Blogger นี้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคามเท่านั้น โปรดทราบ!!

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

กล้วยไม้รองเท้านารี

รองเท้านารีอินทนนท์ Paphiopedilum villosum เป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่พบเมื่อ พ.ศ. 2396 มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณแถบที่มีอากาศชื้นและอุณหภูมิต่ำ เช่น ดอยอินทนนท์ และภูเขาสูง ลักษณะของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบสีเขียวสม่ำเสมอทั้งใบ ไม่มีลาย โคนใบส่วนใกล้กับเหง้ามีจุดสีม่วงประปราย และค่อยๆ จางหายตรงส่วนปลายใบ ใบยาวบางและอ่อน เป็นรองเท้านารีที่มีเกสรตัวผู้ต่างจากชนิดอื่นคือ เกสรตัวผู้จับตัวรวมเป็นก้อนแข็งค่อนข้างใส มีสีเหลืองไม่เป็นยางเหนียว

รองเท้านารีเหลืองปราจีน Paphiopedilum concolor ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2402 มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบลาย ท้องใบสีม่วง ก้านดอกยาวมีขน อาจมี 2–3 ดอกบนก้านเดียวกันได้ กลีบดอกด้านบนผายออกคล้ายพัด ปลายมนสูง กลีบในกางพอประมาณ เมื่อดอกบานจะคุ้มมาข้างหน้าแลดูคล้ายดอกบานไม่เต็มที่ พื้นดอกสีเหลืองอ่อน มีประจุดเล็กๆ สีม่วงประปราย กระเปาะสีเดียวกับกลีบดอก ปลายกระเปาะค่อนข้างเรียวแหลมและงอนปลายเส้าเกสรเป็นแผ่นใหญ่

รองเท้านารีเหลืองตรัง Paphiopedilum godefroyae ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2419 ขึ้นตามโขดหิน ถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเกาะรัง จังหวัดชุมพร ลักษณะเด่น คือ ใบลาย ท้องใบสีม่วง ปลายมนคล้ายรูปลิ้น ก้านดอกสีม่วงมีขน ดอกโตสีครีมเหลือง กลีบนอกบนรูปกลม ปลายยอดแหลมเล็กน้อย กลีบในสองข้างกลมรี ปลายกลีบเว้า ประจุดลายสีน้ำตาลจางตรงโคนกลีบแล้วค่อยจางออกตอนปลาย ปากกระเปาะขาวไม่มีลาย

รองเท้านารีอ่างทอง Paphiopedilum angthong ถิ่นกำเนิดอยู่ตามหมู่เกาะบริเวณอ่าวไทย เช่น หมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ ปลายใบมน ด้านบนสีเขียวคล้ำประลาย ด้านใต้ท้องใบสีม่วงแก่ ก้านดอกยาวมีขน ดอกค่อนข้างเล็กขนาดไม่สม่ำเสมอ การประจุดกระจายจากโคนกลีบ พื้นกลีบดอกสีขาว กลีบค่อนข้างหนา

รองเท้านารีสุขะกุล Paphiopedilum sukhakulii ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2507 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบจังหวัดเลยบนยอดภูหลวง กล้วยไม้พันธุ์นี้มีลักษณะเด่น คือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีคางกบ แต่มีรายละเอียดส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกัน ได้แก่ พื้นกลีบสีเขียวมีจุดสีม่วงประปรายทั่วกลีบ ปลายกลีบดอกแหลม พื้นกลีบมีสีทางสีเขียวถี่ๆ ลายทางจากโคนดอกวิ่งไปรวมที่ปลายกลีบ กลีบในกางเหยียด ขอบกลีบมีขนเช่นเดียวกับบริเวณโคนดอก

รองเท้านารีเหลืองกระบี่ Paphiopedilum exul ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2435 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบเกาะพงันจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะพังงา และจังหวัดชุมพร ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบสีเขียวไม่มีลาย ใบแคบและหนา ผิวเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นรอยลึกรูปตัววี ก้านดอกแข็ง ดอกใหญ่ กลีบดอกนอกบนเป็นรูปใบโพธิ์กว้าง สอบตรงปลาย กลีบดอกสีขางไล่จากโคนกลีบ แนวกลางของกลีบเป็นสีเหลืองอมเขียวประด้วยจุดสีม่วง กลีบในสีเหลืองแคบและยาวกว่ากลีบนอก กระเปาะสีเหลืองเป็นมัน

รองเท้านารีเหลืองพังงา Paphiopedilum leucochilum ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2435 ถิ่นกำเนิดอยู่บนภูเขาหินปูนแถบฝั่งทะเล ในจังหวัดภาคใต้ ลักษณะเด่น คือ มีลักษณะคล้ายกับรองเท้านารี “เหลืองตรัง” แต่รองเท้านารีเหลืองพังงาจะมีสีครีมออกเหลือง และที่กระเปาะมีจุดประเล็กๆ สีน้ำตาล

รองเท้านารีฝาหอย Paphiopedilum bellatulum ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2431 ถิ่นกำเนิดอยู่ตามหุบเขาในเขตพม่าต่อชายแดนไทยตอนเหนือแถบจังหวัดลำพูน และเขตอำเภอเชียงดาว ภาคใต้ เช่น หมู่เกาะอ่างทอง และเกาะช้างในจังหวัดพังงา เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ ใบใหญ่ปลายมน ใบลายสีเขียวแก่และเขียวอ่อนใต้ท้องใบสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นมีขน กลีบดอกนอกกว้างมนกลมปลายกลีบคุ้มลงด้านหน้า กลีบในทั้งสองกว้างมนรูปไข่ คุ้มออกด้านหน้า กลีบนอกและกลีบในเกยกันทำให้แลดูลักษณะดอกกลมแน่น กลีบดอกสีขาวนวล ประจุดสีม่วงจากโคนกลีบ กระเปาะมนกลมคล้ายฟองไข่นก Plover (ซึ่งเป็นที่มาของรองเท้านารีฝาหอยที่เรียกว่า “Plover Orchid”)

รองเท้านารีม่วงสงขลา Paphiopedilum barbatum ถิ่นกำเนิดอยู่ที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีฝาหอย แต่ดอกมีสีม่วงเข้มกว่า

กล้วยไม้สกุลหวาย

เอื้องผึ้ง(Den. aggregatum) เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยป้อมสั้นและเบียดกันแน่น ลักษณะใบแข็งหนาสีเขียวจัด ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ก้านช่อดอกอ่อนโค้งลงมา ช่อหนึ่งมีมากกว่า 20 ดอก พื้นดอกสีเหลืองอ่อน ปากสีเหลืองเข้ม ขนาดดอกโตประมาณ 3 เซนติเมตร พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้

เหลืองจันทบูร(Den. friedericksianum) เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดจันทบุรี เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นโคนเล็กแล้วค่อยโป่งไปทางตอนปลายขนาดลำยาวมาก บางต้นยาวถึง 75 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะเป็นสีเหลืองโดยด้านข้างของลำจะมีใบอยู่ทั้งสองข้าง ออกดอกในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ช่อดอกออกตามข้อของลำ ออกดอกเป็นช่อๆ ละ 2–4 ดอก กลีบดอกเป็นมัน รอบแรกดอกจะเป็นสีเหลืองอ่อนแล้วจะค่อยๆ เข้มขึ้นจนเป็นสีจำปา ปากสีเข้มกว่ากลีบ ในคอมีสีแต้มเป็นสีเลือดหมู 2 แต้ม ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร

เอื้องช้างน้าว, เอื้องคำตาควาย(Den. pulchellum) เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะกลม ต้นอ่อนเป็นเส้นสีม่วงลักษณะใบรูปไข่ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร เมื่อลำแก่แล้วจะทิ้งใบ แตกช่อห้อยที่ปลายลำ ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ช่อหนึ่งมี 5–10 ดอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนมีเส้นเหลืองชมพู ปากรูปไข่กลมแบะแอ่นลงมีแต้มสีเลือดหมู 2 แต้ม กลีบนอกเป็นรูปใบ ภายในกลีบเป็นรูปไข่ ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้

พวงหยก, หวายปม(Den. findlayanum) เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยสีเขียวเหลือง ยาวประมาณ 30–70 เซนติเมตร และโป่งเป็นข้อๆ ลักษณะใบยาวรี เมื่อลำแก่จะทิ้งใบ ออกดอกตามข้อๆ ละประมาณ 2-4 ดอก กลีบดอกสีม่วงอ่อนโคนกลีบสีขาว ปากสีเหลืองเข้ม ขอบปลายปากเป็นรูปหัวใจ ขนาดดอกโตประมาณ 4–6 เซนติเมตร ช่วงออกดอกมักผลัดใบเกือบทั้งหมด ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม พบที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำปาง

เอื้องสายหลวง, เอื้องสาย(Den. anosmum) ลำลูกกล้วยห้อยลงเป็นสายยาว ใบรูปรีขอบขนาน ปลายใบแหลม ดอกเดี่ยวออกตามข้อ ดอกกว้าง 4-5 เซนติเมตร สีม่วงอ่อน กลีบปากรูปทรงกลมปลายแหลม โคนกลีบปากม้วนเข้าหากันและมีแต้มสีม่วงเข้มทั้งสองด้าน ผิวกลีบด้านในมีขนปกคลุม ผิวด้านนอกมีขนเฉพาะขอบกลีบ ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ช่วงออกดอกมักผลัดใบ พบทางภาคใต้

กล้วยไม้สกุลเข็ม

กล้วยไม้สกุลเข็ม ได้สมญาว่าเป็น “ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า” เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น ช่อดอก ขนาดดอก และมีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่นๆ ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนด้า สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น ใบเรียงแบบซ้อนทับกัน รากเป็นระบบรากอากาศ ออกดอกตามข้อของลำต้นระหว่างใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่ 4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และเข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ คือ เข็มแดง เข็มแสด และเข็มม่วง

เข็มแดง(Ascocentrum curvifolium) พบกระจายพันธุ์ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย มาทางประเทศพม่า จนถึงประเทศไทย แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และ กาญจนบุรี ที่ระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบมีสีเขียวอ่อน ค่อนข้างอวบน้ำ ใบแคบ โค้ง เรียว ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในฤดูแล้งขอบใบจะปรากฏจุดสีม่วงประปรายและจะหนาแน่ขึ้นเมื่อแล้งเพิ่มมากขึ้น ดอกสีแดงอมส้ม ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ช่อดอกรูปทรงกระบอก ตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกแน่นช่อ บานทนนับเป็นสัปดาห์ ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

เข็มแสด(Ascocentrum miniatum) พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบและที่เป็นภูเขา จึงสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย เข็มแสดมีลำต้นไม่สูงนัก ใบเรียงซ้อนกันแน่น ใบอวบหนา ปลายใบเป็นฟันแหลม และโค้งเล็กน้อย ใบสีเขียวแก่ และอาจมีสีม่วงบ้างเล็กน้อย เมื่อมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบหนา ผิวกลีบเป็นมันสีส้มหรือสีเหลืองส้ม ขนาดดอกโตประมาณ 1–1.5 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นช่อ ช่อหนึ่งอาจมีมากกว่า 50 ดอก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

เข็มม่วง(Ascocentrum ampullaceum) พบตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี ที่ระดับความสูงกว่าเข็มแดง เข็มม่วงมีลำต้นตั้งแข็ง ใบแบนกว้าง ปลายตัดและมีฟันแหลมๆ ไม่เท่ากันทลายฟัน ใบยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบสีเขียวคล้ำ ในฤดูแล้งใบจะมีจุดสีม่วงเล็กน้อย ดอกสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นเป็นสีเดียวกับดอก เดือยดอกยาวดอกโตประมาณ 2 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งตรงรูป

เข็มหนู(Ascocentrum semiteretifolium) เป็นกล้วยไม้ที่มีใบเป็นแบบใบกลม มีร่องลึกทางด้านบนของใบ ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร มีดอกสีม่วงอ่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างหายาก ลักษณะของต้นและดอกไม่เป็นที่นิยมของนักปลูกเลี้ยง

กล้วยไม้สกุลแวนด้า

แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด

กล้วยไม้สกุลแวนด้าพบในป่าตามธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด มีกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเซีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย อินโดนีเซีย จนถึงฟิลิปปินส์ แวนด้าได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของแวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น 4 ประเภท คือ แวนด้าใบกลม มีลักษณะของใบกลมยาวทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง สังเกตได้ที่ใบติดอยู่ห่างๆ กัน มีดอกช่อละหลายดอก แต่ดอกจะบานติดต้นอยู่คราวละ 2–3 ดอกเท่านั้น เมื่อดอกข้างบนบานเพิ่มขึ้น ดอกข้างล่างจะโรยไล่กันขึ้นไปเรื่อยๆ การปลูกใช้ดอกจึงนิยมปลิดดอกมากกว่าตัดดอกทั้งช่อ
แวนด้าใบแบน ลักษณะใบแผ่แบนออก ถ้าตัดมาดูหน้าตัดจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ปล้องสั้น ใบซ้อนชิดกัน ปลายใบโค้งลงและจักเป็นแฉก
แวนด้าใบร่อง มีรูปทรงของใบและลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม แวนด้าประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมาปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน
แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบและลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน พบตามป่าธรรมชาติน้อยมาก เพราะกล้วยไม้พันธุ์นี้เป็นหมันทั้งสิ้น

แวนด้าไตรคัลเลอร์(Vanda tricolor) เป็นกล้วยไม้แวนด้าพื้นเมืองของชวา ใบมีลักษณะยาวเป็นคลื่นกว้าง 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ช่อดอกโค้งยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 5–10 ดอกต่อช่อ กลีบนอกและกลีบในสีเหลืองอมขาว มีจุดสีน้ำตาลอมแดง ปากเป็นแฉก หูปากเล็กแผ่นปากสีม่วง

แวนด้าแซนเดอเรียน่า(Vanda sanderiana) เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศฟิลิปปินส์ จัดเป็นแวนด้าประเภทใบแบน หน้าตัดของใบเป็นรูปตัววี (V) ปลายใบเป็นฟันแหลมๆ ไม่เท่ากัน ใบเรียงซ้อนค่อนข้างถี่มีลักษณะเป็นแผง ช่อดอกตั้งแข็งตั้งยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 5–15 ดอก ดอกเรียงรอบช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกเป็นพุ่มสวยงาม ดอกมีกลีบนอกคู่ล่างใหญ่ มีสีแตกต่างจากกลีบนอกบนและกลีบในทั้งคู่สีคล้ายครึ่งล่างและครึ่งบน ครึ่งบนเป็นสีชมพูม่วงอ่อน ครึ่งล่างเป็นน้ำตาลไหม้อยู่บนพื้นสีเขียว เป็นลายตาสมุก ปากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กระเป๋าและคอปากสีเหลืองอมเขียว และมีเส้นสีแดงบางๆ แผ่นปากมีสีน้ำตาลไหม้ รูปดอกใหญ่ ขนาดดอกโตประมาณ 8–12 เซนติเมตร

แวนด้าเดียรีอิ(Vanda dearei) เป็นกล้ายไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะบอเนียว จัดเป็นแวนด้าประเภทใบแบน มีลักษณะของลำต้นอ้วนใหญ่ ใบกว้างและบิดเล็กน้อย ช่อดอกสั้นมีดอกน้อย กลีบนอกและกลีบในกว้าง แข็งหนา เนื้อละเอียด ดอกสีเหลืองนวลสะอาด หูปากสองข้างเล็กขาว โคนแผ่นปากสีขาว ปลายสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม แวนด้าชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ลูกผสมไปทางสีเหลือง โดยใช้ผสมพันธุ์ควบคู่กับแวนด้าแซนเดอเรียน่า

แวนด้าอินซิกนิส(Vanda insignis) เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของเกาะโมลูกัส จัดเป็นแวนด้าประเภทใบแบน ใบยาวประมาณ 15–20 เซนติเมตร ช่อดอกไม่ยาว มีดอกประมาณ 4–7 ดอก มีกลีบนอกและกลีบในห่างสีเหลืองอมเขียว มีจุดสีช๊อกโกแลต หูปากเล็กสีขาว แผ่นปากกว้างสีม่วงกุหลาบขนาดโตประมาณ 6 เซนติเมตร

กล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซีส

กล้วยไม้ฟาแลนอปซีส ปลูกเลี้ยงกันในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีผู้สนใจมากนักเนื่องจากดอกมีขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันกล้วยไม้สกุลนี้กำลังเป็นที่สนใจของผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วไป ทั้งนี้ก็เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ได้ถูกปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด จนทำให้สวยงามทั้งรูปทรงดอกและสีของดอก ดอกกลมใหญ่ กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง ก้านช่อยาว เหมาะสำหรับปักแจกัน ต้นหนึ่งออกดอกได้หลายช่อ แต่ละพันธุ์ออกดอกต่างเดือนกัน บางชนิดออกดอกในเดือนที่ตลาดต้องการดอกไม้ตัดดอก จึงทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอกสนใจการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้มากขึ้น

กล้วยไม้ฟาแลนอปซีส มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติและกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ บอร์เนียว ชวา สุมาตรา มาเลเซีย สำหรับประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลนี้อยู่ 2-3 ชนิด เช่น เขากวาง กาตาฉ่อ ขนาดของดอกมีใหญ่และเล็กตามลักษณะของพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกกันอยู่ในขณะนี้เป็นพันธุ์ลูกผสม ที่มีการปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด จนดอกกลมใหญ่ ลักษณะของลำต้นทรงเตี้ยตรง การเจริญเติบโตเป็นแบบโมโนโพเดี้ยล ใบอวบน้ำ ค่อนข้างหนาแผ่แบนรูปคล้ายใบพาย ดอกกลมใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ 5-8 ซม. กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง มองดูดอกแล้วงาม ทั้งฟอร์มดอกและสี ก้านช่อยาว บางช่อยาวถึง 80 ซม. ช่อหนึ่งมีหลายดอก เรียงไปตามก้านช่ออย่างมีระเบียบ บางต้นแยกออกเป็นหลายช่อ ดอกบานทน ถ้าบานอยู่กับต้นสามารถบานอยู่ได้นานเป็นเดือน เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่ายสามารถเจริญงอกงามและออกดอกให้ได้ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ กัน นอกจากนี้ยังสามารถผสมข้ามสกุลกับสกุลกล้วยไม้สกุลต่างๆ ได้หลายสกุล เช่น ผสมกับสกุลแวนด้า ผสมกับสกุลอะแรคนิส ผสมกับสกุลเรแนนเทอร่า เป็นต้น

การปลูกกล้วยไม้ฟาแลนอปซีสลงกระถางหรือกระเช้าไม้ ควรตั้งต้นกล้วยไม้ตรงกลางให้โคนต้นส่วนเหนือรากอยู่ต่ำกว่าระดับขอบภาชนะปลูกเล็กน้อย การวางต้นกล้วยไม้สูงเกินไปจะทำให้รากกล้วยไม้ได้รับความชื้นไม่เพียงพอ แต่ถ้าปลูกต่ำเกินไปกล้วยไม้ก็จะอยู่ในสภาพที่ชื้นหรือแฉะเกินไป การใส่เครื่องปลูกควรใส่แค่กลบรากเท่านั้น อย่าใส่เครื่องปลูกมากเกินไปจนกระทั่งสูงขึ้นมากลบส่วนของส่วนโคนต้นเพราะอาจจะทำให้โคนต้นแฉะและโคนใบเน่าได้ การปลูกควรปลูกก่อนเข้าฤดูฝนคือประมาณเดือนมีนาคม ถ้าปลูกในฤดูฝนอากาศมีความชื้นสูงและกล้วยไม้กำลังอวบน้ำ อาจทำให้ใบและยอดเน่าได้

กล้วยไม้สกุลกุหลาบ


กล้วยไม้สกุลกุหลาบ เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดดๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง มักมีกลิ่นหอม มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลีบดอกผึ่งผายสวยงามสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า (Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis) สำหรับกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยมีดังนี้

กุหลาบกระเป๋าปิด(Aerides odorata Lour.) กุหลาบกระเป๋าปิดเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลกุหลาบที่ส่วนปลายปากแคบกว่าหู และทั้ง 2 ส่วนพับขึ้นมาปิดเส้าเกสรไว้ พบขึ้นอยู่ทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า อินเดีย เนปาล และภูฎาน
กุหลาบกระเป๋าปิดมีลำต้นบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ต้นห้อยย้อยลง มักแตกแขนงเป็นหลายยอด ต้นอาจยาวถึง 1 เมตรครึ่ง ใบยาวประประมาณ 15-25 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร เรียงสลับซ้ายขวา ปลายใบหยักไม่เท่ากัน ใบค่อนข้างบางไม่แข็งทื่อ ขอบใบบิดเล็กน้อย โคนใบหุ้มต้น ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ช่อดอกยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรและห้อยลง แต่ละช่อมีประมาณ 30 ดอก แต่ละดอกกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว ปลายกลีบเป็นสีม่วงอมแดงอ่อนๆ ส่วนปลายปากเป็นสีม่วง เดือยดอกโค้งงอนขึ้นคล้ายเขาดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกกุหลาบและบานนานประมาณ 1-2 สัปดาห์
สำหรับกุหลาบกระเป๋าปิดที่พบทางภาคเหนือ จะมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือต้นจะตั้งตรงและบิดน้อยกว่า ใบสั้นกว่าและหนากว่า ก้านส่งช่อดอกแข็งทำให้ช่อดอกโค้งลงเพียงเล็กน้อย

กุหลาบเหลืองโคราช(Aerides houlettiana Rchb. f ) กุหลาบเหลืองโคราชมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบกระเป๋าเปิด แต่มีพื้นกลีบเป็นสีเหลืองแทนที่จะเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นตะไคร้ ความยาวของใบและของช่อดอกจะสั้นกว่ากุหลาบกระเป๋าเปิด ในประเทศไทยพบเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบใน ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม
กุหลาบเหลืองโคราชออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม จุดเด่นของกุหลาบเหลืองโคราชอยู่ตรงที่มีสีเหลือง ในแต่ละต้นจะมีความผิดเพี้ยนกันไป คือ อาจมีสีเหลืองเข้ม เหลืองอ่อน หรือบางต้นแทบไม่มีสีเหลืองเลย ในการคัดพันธุ์ควรเลือกสีเหลืองเข้มเป็นหลัก เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ในประเทศไทยมีชนิดนี้เพียงชนิดเดียวที่ดอกมีสีเหลือง

กุหลาบแดง(Aerides crassifolia Parish ex Burbidge) กุหลาบแดงเป็นกุหลาบที่มีเดือยดอกยาวเห็นได้ชัดเจน เดือยงอนขึ้นและไม่ซ่อนตัวอยู่ใต้ปลายปาก ใบยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ใบหนา ผิวใบอาจย่นมากหรือน้อย โดยย่นตามขวางของใบ ในประเทศไทยพบที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งที่นครนายกและกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบในประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม
กุหลาบแดงออกดอกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม มีช่อดอกสั้น ช่อหนึ่งมีประมาณ 10 ดอกเท่านั้น ดอกมีสีม่วงแดง การจัดระเบียบดอกในช่อไม่งดงามเหมือนกล้วยไม้กุหลาบชนิดอื่น

กุหลาบอินทจักร(Aerides flabellata Rolfe ex Downie) กุหลาบอินทจักรเป็นกุหลาบเดือยยาวชนิดเดียวที่ฝาครอบอับเรณูกว้างและมนซึ่งชนิดอื่นจะแหลมเป็นปากกา ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือ และพบในพม่า ลาว และมณฑลยูนานของจีน
กุหลาบอินทจักรมีก้านช่อดอกค่อนข้างแข็ง ช่อดอกตั้ง ออกดอก 5-10 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะคล้ายกัน สีเขียวอมเหลืองและมีแต้มสีน้ำตาลอมม่วง กลีบปากเป็น 3 หยัก สีขาวมีจุดสีชมพูอมม่วง ขอบจักเป็นฟันเลื่อย ดอกขนาด 2-3 เซนติเมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤกษภาคม
จุดเด่นของกุหลาบชนิดนี้อยู่ที่เดือยยาวและงอน จนปลายเดือยชี้กลับเข้าไปหาตัวดอก อาจเรียกว่า กล้วยไม้เดือยงาม ก็ได้

กุหลาบมาลัยแดง(Aerides multiflora Roxb.) กุหลาบมาลัยแดงมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบน่าน แตกต่างกันที่ปลายปาก คือ ปากของกุหลาบน่านเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ปากของกุหลาบมาลัยแดงเป็นรูปหัวใจ ปลายสุดของปากป้านและหยักกลาง ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์แถบภาคเหนือ อีสาน นครนายก ชลบุรี และกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบใน ประเทศเนปาล สิกขิม ภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
กุหลาบมาลัยแดงมีลำต้นแข็งแรง ใบหนาโค้ง ซ้อนกันถี่ ใบกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อดอกโค้งห้อยยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ก้านช่อมักมีสีคล้ำเกือบดำ ออกดอกเบียดชิดกันแน่นช่อ โดยทั่วไปจะมีกลีบดอกสีม่วงแดง มักจะมีสีจางจนถึงขาวที่โคนกลีบ และสีจะเข้มขึ้นจนสุดที่ปลายกลีบช่อดอกจะแตกแขนงถ้าเลี้ยงให้สมบูรณ์และอากาศเย็น ออกดอกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นที่ดอกมีสีขาวล้วนเรียกว่า “มาลัยเผือก”

กุหลาบชมพูกระบี่ กุหลาบพวงชมพู(Aerides krabiense Seidenf.) กุหลาบชมพูกระบี่หรือพวงชมพู พบครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ และต่อมาได้พบที่จังหวัดใกล้เคียงกัน เช่นที่พังงา และเกาะต่างๆ ในบริเวณนั้น รวมทั้งที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียด้วย โดยจะพบขึ้นอยู่ตามหน้าผาริมทะเลที่ได้รับแสงแดดเต็มที่
กุหลาบชมพูกระบี่มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลกุหลาบที่พบในประเทศไทย เป็นกุหลาบที่ต้นมักแตกเป็นกอ ใบแคบหนา โค้งงอและห่อเป็นรูปตัววี ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ผิวใบมีจุดประสีม่วงแดงอยู่ทั่วไปและปรากฎมากขึ้นเมื่อถูกแดดจัดหรืออากาศแห้งแล้งเช่นเดียวกับใบเข็มแดง
กุหลาบชมพูกระบี่ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ช่อดอกยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อเอนขนานไปกับใบ ปลายช่อโค้งลง บางต้นพบช่อดอกแตกแขนงด้วย มีเดือยดอกสั้นมาก ปลายปากกว้างมน ดอกมีพื้นขาว มีจุดประสีม่วงแดง หรือชมพูเข้มกลางแผ่นปากมีสีแดงเข้ม ดอกคล้ายกุหลาบมาลัยแดง หรือกุหลาบน่าน จุดสังเกตที่เด่นชัดคือลักษณะของปลายปากที่แตกต่างกัน คือ กุหลาบน่านปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน กุหลาบมาลัยแดงปลายปากป้านและหยักกลาง ส่วนกุหลาบชมพูกระบี่ปลายปากกว้างและมน

กุหลาบน่าน กุหลาบเอราวัณ กุหลาบไอยรา(Aerides rosea Loddiges ex Lindl. & Paxt.) กุหลาบน่านเป็นพวกที่มีเดือยดอกสั้นมาก เห็นเป็นตุ่มขนาดใหญ่ มีปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายใบหยักกลางแต่หยักไม่เท่ากัน ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเท่านั้น และพบน้อยมาก นอกจากนี้ยังพบในภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน
กุหลาบน่านช่อดอกมีก้านส่งแข็ง ชี้เฉียงลง แต่ส่วนช่อที่ติดดอกจะโค้งห้อยลง ถ้าต้นสมบูรณ์ ช่อดอกจะแตกแขนง ดอกเบียดกันแน่นช่อ ดอกใหญ่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีม่วงแดง ที่ปลายกลีบมีจุม่วงแดงประปราย ปากสีม่วงแดง ออกดอกในเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน

กุหลาบกระเป๋าเปิด(Aerides falcata Lindl.) กุหลาบกระเป๋าเปิดพบขึ้นอยู่ในทุกภาคของประเทศไทยและยังพบในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นกล้วยไม้ที่มีปลายปากกว้างอ้าออก ยื่นไปข้างหน้า มีเดือยดอกค่อนข้างตรง ซ่อนอยู่ใต้ปลายปาก อยู่ชิดขนานกับปลายปาก ใบยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร
กุหลาบกระเป๋าเปิดออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ช่อดอกห้อย ช่อรูปทรงกระบอก กลีบปากมี 3 แฉก เปิดกว้าง ริมแผ่นปากเป็นฝอย มีลายสีม่วงแดงแล้วจางเป็นสีขาว พื้นกลีบดอกเป็นสีขาว มีแต้มสีม่วงอมชมพูที่ปลายกลีบ ขนาดดอกประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอม

ที่มา:http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/orchid/sec04p08.html

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรคและแมลงศัตรู

ปัญหาที่สำคัญในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ก็คือ โรคและแมลงรบกวน โรคของกล้วยไม้มีหลายชนิด บางชนิดทำให้กล้วยไม้ตายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เชื้อโรคและแมลงศัตรูที่เข้าทำลายกล้วยไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และขยายพันธุ์รวดเร็ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การป้องกันกำจัดได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง โรคและแมลงศัตรูของกล้วยไม้ที่พบมีดังนี้

โรคเน่าดำหรือยอดเน่า

โรคเน่าดำหรือยอดเน่า หรือ เรียกว่าโรคเน่าเข้าไส้ โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora

ลักษณะอาการ

โรคนี้สามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ทุกส่วน ถ้าเชื้อราเข้าทำลายที่ราก รากจะเน่าแห้ง ซึ่งมีผลทำให้ใบเหลือง ร่วง และตายในที่สุดถ้าเชื้อราเข้าทำลายยอดจะทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับจะหลุดติดมือได้ง่าย และถ้าแสดงอาการรุนแรงเชื้อราจะลุกลามเข้าไปในลำต้น เมื่อผ่าดูจะเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มตามแนวยาวของต้น โรคนี้จะแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือช่วงที่มีความชื้นสูง

การป้องกันและกำจัด

ควรปรับสภาพเรือนกล้วยไม้ให้โปร่ง ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป ถ้าพบโรคนี้ในระยะเป็นลูกกล้วยไม้ให้แยกกระถางที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ถ้าเป็นกับกล้วยไม้ที่ใดแล้วควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกเสียจนถึงเนื้อดี แล้วใช้ยาฉีดพ่น ยาป้องกันกำจัดเชื้อราจะต้องใช้ชนิดที่สามารถป้องกันเชื้อราชนิดนี้โดยตรง เช่น ไดโพลาแทน, ริโดมิล, เทอราโซล สำหรับการใช้ยาประเภทดูดซึมมีข้อควรระวัง คือ อย่าให้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยา ควรผสมกับยาชนิดอื่น เช่น แมนโคเซป หรือใช้ยาสูตรที่ผสมมาให้เรียบร้อยแล้ว เช่น ริไดมิล เอ็มแซด หรืออาจใช้สลับกันระหว่างยาดูดซึมจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะสารเคมีแต่ละตัวมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อราได้แตกต่างกัน

โรคดอกสนิมหรือจุดสนิม

เป็นโรคที่จักกันดีในหมู่ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อตัดดอกเป็นขายต่างประเทศ บางอาจแสดงอาการระหว่างการขนส่ง เป็นมากกับกล้วยไม้สกุลหวายโดยเฉพาะหวายมาดาม หวายขาว หวายชมพูและหวายซีซาร์ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis


ลักษณะอาการ

ปรากฏอาการบนกลีบดอกกล้วยไม้ อาการเริ่มแรกเป็นจุดขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง เมื่อจุดเหล่านี้ขยายโตขึ้นจะเข้มเป็นสีสนิม มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1–0.3 มิลลิเมตร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวสวนกล้วยไม้นิยมเรียกว่า “โรคราสนิม” ลักษณะดังกล่าวจะปรากฎชัดเจนบนดอกหวายมาดาม แต่อาการบนหวายขาวจะเป็นแผลสีน้ำตาลไม่เป็นแผลสีสนิมชัดเจนอย่างบนหวายมาดาม โรคนี้ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะถ้ามีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือมีน้ำค้างลงจัด โดยจะระบาดติดต่อกันรวดเร็วทั่วทั้งรังกล้วยไม้และบริเวณใกล้เคียง

การป้องกันและกำจัด

หมั่นตรวจดูแลรังกล้วยไม้ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมออย่าปล่อยให้ดอกกล้วยไม้บานโรยคาต้น เพราะจะเป็นแหล่งให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เก็บรวบรวมดอกที่เป็นโรคให้หมดแล้วนำไปเผาทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรค หลังจากนั้นจึงฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟหรือมาเน็กซ์ โดยในช่วงฤดูฝนควรฉีดพ่นให้ถี่ขึ้น

โรคใบปื้นเหลือง

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudocercospora dendrobii พบมากในกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ ระบาดมากตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว โดยสปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับลมและกระเด็นไปกับละอองน้ำที่ใช้รดต้นกล้วยไม้

ลักษณะอาการ

จะเกิดบนใบของกล้วยไม้โดยเฉพาะที่อยู่โคนต้นก่อนโดยใบจะมีจุดกลมสีเหลือง เมื่อเป็นมากๆ จะขยายติดต่อกันเป็นปื้นเหลืองตามแนวยาวของใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นเป็นกลุ่มผงสีดำ ในที่สุดใบที่เป็นรุนแรงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ พร้อมทั้งร่วงหลุดออกจากต้นในที่สุด ทำให้ต้นกล้วยไม้ทิ้งใบหมด

การป้องกันและกำจัด

ควรเก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย และรักษารังกล้วยไม้ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการทำลายเชื้อและลดปริมาณของเชื้อราในรังกล้วยไม้ และฉีดพ่นด้วยยาเดลซีนเอ็มเอ็ก 200, ไดเทนเอ็ม 45, เบนเลททุกๆ 7–10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

โรคแอนแทรกโนส

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. เป็นโรคหนึ่งที่พบเสมอในกล้วยไม้สกุลออนซิเดี้ยม สกุลแคทลียา สกุลแวนด้า สกุลหวาย สกุลแมลงปอ ปอมปาดัวร์ และลูกผสมของกล้วยไม้สกุลต่างๆ เหล่านี้เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลมและฝนหรือน้ำที่ใช้รด

ลักษณะอาการ

ใบจะเป็นแผลวงกลมสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลไหม้ ซึ่งขยายออกไปเป็นแผลใหญ่เห็นเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อที่เป็นแผลบุ๋มลึกลงไปต่ำกว่าระดับผิวใบเล็กน้อย กล้วยไม้บางชนิดมีขอบแผลเป็นเนื้อเยื่อสีเหลืองล้อมรอบแผล เช่น ลักษณะแผลของพวกแมลงปอ ฯลฯ บางชนิดแผลมีขอบสีน้ำตาลเข้มกว่าภายในและไม่มีขอบแผลสีเหลืองเลย เช่น แผลของกล้วยไม้ดินบางชนิด เนื้อเยื่อของแผลนานเข้าจะแห้งบางผิดปกติ ขนาดของแผลแตกต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อม บางแห่งมีเชื้อราอื่นมาขึ้นร่วมภายหลังทำให้แผลขยายกว้างออกไปจนมีลักษณะที่เป็นแผลวงกลม อย่างอาการเริ่มแรกกล้วยไม้ที่มีใบอวบอมน้ำมาก เช่น แคทลียา ลูกผสมแมลงปอ และกล้วยไม้ดินบางชนิดใบจะเน่าเปื่อยถ้าฝนตกชุก แต่โดยปกติจะเป็นแผลแห้งติดอยู่กับต้น

การป้องกันและกำจัด

โดยเก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดต่อไป และฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราทุกๆ 7–15 วันต่อครั้งส่วนฤดูฝนต้องฉีดพ่นเร็วกว่ากำหนด เช่น 5–7 วันต่อครั้ง เป็นต้น

โรคเน่าแห้ง

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii เป็นโรคที่พบตามแหล่งปลูกกล้วยไม้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอากาศร้อนชื้น ทำความเสียหายแก่กล้วยไม้หลายสกุล เช่น สกุลแวนด้า สกุลหวาย สกุลรองเท้านารีและสกุลออนซิเดี้ยม

ลักษณะอาการ

โดยเชื้อราจะเข้าทำลายกล้วยไม้บริเวณรากหรือโคนต้นแล้วแพร่ไปยังส่วนเหนือโคนต้นขึ้นไป บริเวณที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อเยื่อจะแห้งและยุ่ย ถ้าอากาศชื้นมากๆ จะเห็นเส้นใยสีขาวแผ่บริเวณโคนต้น ลักษณะที่เห็นได้ง่ายคือมีเม็ดกลมๆ ขนาดเล็กสีน้ำตาลคล้ายเมล็ดผักกาดเกาะอยู่ตามโคนต้น ในกล้วยไม้บางชนิดจะแสดงอาการที่ใบโดยจะทำให้ใบเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่ออากาศแห้งจะเหี่ยวและร่วงตายไปในที่สุดโรคนี้ระบาดมากในฤดูฝน ซึ่งเชื้อราชนิดนี้จะมีเมล็ดเป็นสีน้ำตาลกลมๆ ซึ่งทนต่อการทำลายของสารเคมีและสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้มีชีวิตอยู่ได้นาน

การป้องและกำจัด

ควรดูแลรังกล้วยไม้เสมอ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ควรเก็บรวบรวมใบแล้วเผาทำลายทิ้ง และราดทับหรือฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา เช่น เทอราโซลหรือไวตาแวกซ์

โรคเน่าเละ

เป็นโรคที่รู้จักกันดีในหมู่นักเลี้ยงกล้วยไม้ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas gladioli เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับกล้วยไม้หลายสกุล เช่น สกุลแคทลียา สกุลรองเท้านารี สกุลออนซิเดี้ยม สกุลซิมบิเดี้ยม ฟาแลนด์น๊อฟซิส เป็นต้น มักจะเกิดในเรือนกล้วยไม้ที่มีความชื้นสูง

ลักษณะอาการ

อาการเริ่มแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็กบนใบหรือบนหน่ออ่อน ทำให้เนื้อเยื่อมีลักษณะเหมือนถูกน้ำร้อนลวก คือใบจะพองเป็นสีน้ำตาล ฉ่ำน้ำ ถ้าเอามือจับแต่เบาๆ จะเละติดมือและมีกลิ่นเหม็น ซึ่งจะขยายลุกลามออกไปทั้งใบและหน่ออย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีสภาพอากาศร้อนและความชื้นสูง

การป้องกันและกำจัด

ตัดหรือแยกส่วนที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ในช่วงที่มีฝนตกหนักควรมีหลังคาพลาสติกคลุมอีกชั้นหนึ่งสำหรับลูกกล้วยไม้หรือไม้ปลูกใหม่ เพื่อไม่ให้แรงกระแทกของเม็ดฝนทำให้กล้วยไม้ช้ำและเป็นสาเหตุให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่าย ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้อากาศระหว่างต้นไม่ถ่ายเท เกิดความชื้นสูงและง่ายแก่การเกิดโรค นอกจากนี้การเร่งกล้วยไม้ให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงมากเกินไปจะทำให้ต้นและใบกล้วยไม้อวบหนา ซึ่งเหมาะแก่การเป็นโรคเน่าเละนี้มาก สำหรับยาเพื่อใช้กำจัดแบคทีเรียนิยมใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกสเตรปโตมัยซิน เช่น แอกริมัยซิน หรืออาจใช้ไฟแซน 20 หรือนาตริฟินก็ได้

โรคใบจุด

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phyllostictina psriformis พบมากในกล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลหวาย ทำให้ต้นกล้วยไม้มีการเจริญเติบโตลดลง เนื่องจากใบมีการปรุงอาหารได้น้อย โรคนี้มีปัญหามากกับผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อจำหน่ายต้น

ลักษณะอาการ

ในกล้วยไม้สกุลแวนด้า ลักษณะแผลเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวย ถ้าเป็นมากบางครั้งแผลจะรวมกันเป็นแผ่น บริเวณตรงกลางแผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาลดำ เมื่อลูบดูจะรู้สึกสากมือ ซึ่งในเวลาต่อมาตุ่มนูนนี้จะแตกออกมีสปอร์จำนวนมาก ระบาดในฤดูฝนถึงฤดูหนาว ส่วนลักษณะอาการที่เกิดกับสกุลหวายจะแตกต่างจากสกุลแวนด้า คือ ลักษณะแผลเป็นจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ขนาดแผลมีได้ตั้งแต่เท่าปลายเข็มหมุดจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 1 เซนติเมตร บางครั้งแผลจะบุ๋มลึกลงไป หรืออาจนูนขึ้นมาเล็กน้อยหรือเป็นสะเก็ดสีดำ เกิดได้ทั้งด้านบนใบและหลังใบ บางทีอาจมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือ บนใบจะมีอาการเป็นจุดกลมสีเหลือง เห็นได้ชัดเจน จุดกลมเหลืองเหล่านี้บางจุดจะมีสีดำบริเวณกลางและค่อยแผ่ขยายเป็นจุดกลมสีดำทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดปี

การป้องกันและกำจัด

ทำได้โดยการรวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสียหรือฉีดพ่นด้วยยาไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟ หรือยาประเภทคาร์เบนดาซิม เช่น เดอโรซาล เป็นต้น

เพลี้ยไฟ

เป็นที่รูจักกันดีในวงการผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ในชื่อว่า “ตัวกันสี” เป็นแมลงปากดูดที่มีขนาดเล็กมาก มีความยาวประมาณ ½-2 มิลลิเมตร รูปร่างเรียวยาว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ตัวอ่อนมีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน หรือสีดำ ตัวแก่มีปีกซึ่งมีลักษณะแคบยาว มักจะพบเห็นตัวอ่อนเกาะบนกล้วยไม้ เพลี้ยไฟมีการเคลื่อนไหวรวดเร็วมาก ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็นตัว

ลักษณะอาการ

เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่ดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนๆ เช่น ตามยอด ตาและดอก มักพบเพลี้ยไฟเข้าทำลายกล้วยไม้ในฤดูร้อนและฤดูฝน ทำความเสียหายมากแก่กล้วยไม้ในระยะที่ดอกตูมและดอกกำลังบาน โดยการดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ดอกตูมชะงักการเจริญเติบโต เป็นสีน้ำตาลและแห้งคาก้านช่อดอก ส่วนอาการที่ดอกบานเริ่มแรกจะเห็นเป็นรอยแผลสีซีดขาวที่ปากหรือกระเป๋า และตำแหน่งของกลีบดอกที่ซ้อนกัน ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาลเรียกว่า “ดอกไหม้หรือปากไหม้” ดอกเหี่ยวแห้งง่าย

การป้องกันและกำจัด

อาจใช้พอสซ์ในอัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไวเดทแอล อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ซีเอฟ 35 แอสที 10–15 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกเวลาการฉีดในช่วงเย็นๆ

ไรแดงหรือแมงมุมแดง

เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลหวาย ไรแดงเป็นศัตรูจำพวกปากดูดมีขนาดเล็กมาก แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นจุดสีแดงเล็กๆ เคลื่อนไหวได้ ไรแดงมีสีต่างๆ เช่น สีแดง สีเหลืองอมเขียว สีเหลืองและส้ม รูปร่างค่อนข้างกลม มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มทางด้านใต้ใบ

ลักษณะอาการ

ไรแดงจะทำลายทั้งใบและดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยง ถ้าดูดน้ำเลี้ยงที่ใบจะทำให้เกิดเป็นจุดด่าง ผิวใบไม่เรียบ มีสีเหลืองและค่อยๆ เป็นสีเข้มขึ้นจนถึงสีน้ำตาล ถ้ามีการทำลายมากๆ จะมองเห็นบริเวณนั้น

การป้องกันและกำจัด

ทำได้โดยเก็บใบและดอกที่ถูกทำลายไปเผาและใช้ยาเคลเธน อัตรา 30 ซีซี ฉีดพ่นทั้งต้น