Blogger นี้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคามเท่านั้น โปรดทราบ!!

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรคและแมลงศัตรู

ปัญหาที่สำคัญในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ก็คือ โรคและแมลงรบกวน โรคของกล้วยไม้มีหลายชนิด บางชนิดทำให้กล้วยไม้ตายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เชื้อโรคและแมลงศัตรูที่เข้าทำลายกล้วยไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และขยายพันธุ์รวดเร็ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การป้องกันกำจัดได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง โรคและแมลงศัตรูของกล้วยไม้ที่พบมีดังนี้

โรคเน่าดำหรือยอดเน่า

โรคเน่าดำหรือยอดเน่า หรือ เรียกว่าโรคเน่าเข้าไส้ โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora

ลักษณะอาการ

โรคนี้สามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ทุกส่วน ถ้าเชื้อราเข้าทำลายที่ราก รากจะเน่าแห้ง ซึ่งมีผลทำให้ใบเหลือง ร่วง และตายในที่สุดถ้าเชื้อราเข้าทำลายยอดจะทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับจะหลุดติดมือได้ง่าย และถ้าแสดงอาการรุนแรงเชื้อราจะลุกลามเข้าไปในลำต้น เมื่อผ่าดูจะเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มตามแนวยาวของต้น โรคนี้จะแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือช่วงที่มีความชื้นสูง

การป้องกันและกำจัด

ควรปรับสภาพเรือนกล้วยไม้ให้โปร่ง ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป ถ้าพบโรคนี้ในระยะเป็นลูกกล้วยไม้ให้แยกกระถางที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ถ้าเป็นกับกล้วยไม้ที่ใดแล้วควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกเสียจนถึงเนื้อดี แล้วใช้ยาฉีดพ่น ยาป้องกันกำจัดเชื้อราจะต้องใช้ชนิดที่สามารถป้องกันเชื้อราชนิดนี้โดยตรง เช่น ไดโพลาแทน, ริโดมิล, เทอราโซล สำหรับการใช้ยาประเภทดูดซึมมีข้อควรระวัง คือ อย่าให้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยา ควรผสมกับยาชนิดอื่น เช่น แมนโคเซป หรือใช้ยาสูตรที่ผสมมาให้เรียบร้อยแล้ว เช่น ริไดมิล เอ็มแซด หรืออาจใช้สลับกันระหว่างยาดูดซึมจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะสารเคมีแต่ละตัวมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อราได้แตกต่างกัน

โรคดอกสนิมหรือจุดสนิม

เป็นโรคที่จักกันดีในหมู่ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อตัดดอกเป็นขายต่างประเทศ บางอาจแสดงอาการระหว่างการขนส่ง เป็นมากกับกล้วยไม้สกุลหวายโดยเฉพาะหวายมาดาม หวายขาว หวายชมพูและหวายซีซาร์ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis


ลักษณะอาการ

ปรากฏอาการบนกลีบดอกกล้วยไม้ อาการเริ่มแรกเป็นจุดขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง เมื่อจุดเหล่านี้ขยายโตขึ้นจะเข้มเป็นสีสนิม มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1–0.3 มิลลิเมตร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวสวนกล้วยไม้นิยมเรียกว่า “โรคราสนิม” ลักษณะดังกล่าวจะปรากฎชัดเจนบนดอกหวายมาดาม แต่อาการบนหวายขาวจะเป็นแผลสีน้ำตาลไม่เป็นแผลสีสนิมชัดเจนอย่างบนหวายมาดาม โรคนี้ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะถ้ามีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือมีน้ำค้างลงจัด โดยจะระบาดติดต่อกันรวดเร็วทั่วทั้งรังกล้วยไม้และบริเวณใกล้เคียง

การป้องกันและกำจัด

หมั่นตรวจดูแลรังกล้วยไม้ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมออย่าปล่อยให้ดอกกล้วยไม้บานโรยคาต้น เพราะจะเป็นแหล่งให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เก็บรวบรวมดอกที่เป็นโรคให้หมดแล้วนำไปเผาทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรค หลังจากนั้นจึงฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟหรือมาเน็กซ์ โดยในช่วงฤดูฝนควรฉีดพ่นให้ถี่ขึ้น

โรคใบปื้นเหลือง

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudocercospora dendrobii พบมากในกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ ระบาดมากตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว โดยสปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับลมและกระเด็นไปกับละอองน้ำที่ใช้รดต้นกล้วยไม้

ลักษณะอาการ

จะเกิดบนใบของกล้วยไม้โดยเฉพาะที่อยู่โคนต้นก่อนโดยใบจะมีจุดกลมสีเหลือง เมื่อเป็นมากๆ จะขยายติดต่อกันเป็นปื้นเหลืองตามแนวยาวของใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นเป็นกลุ่มผงสีดำ ในที่สุดใบที่เป็นรุนแรงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ พร้อมทั้งร่วงหลุดออกจากต้นในที่สุด ทำให้ต้นกล้วยไม้ทิ้งใบหมด

การป้องกันและกำจัด

ควรเก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย และรักษารังกล้วยไม้ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการทำลายเชื้อและลดปริมาณของเชื้อราในรังกล้วยไม้ และฉีดพ่นด้วยยาเดลซีนเอ็มเอ็ก 200, ไดเทนเอ็ม 45, เบนเลททุกๆ 7–10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

โรคแอนแทรกโนส

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. เป็นโรคหนึ่งที่พบเสมอในกล้วยไม้สกุลออนซิเดี้ยม สกุลแคทลียา สกุลแวนด้า สกุลหวาย สกุลแมลงปอ ปอมปาดัวร์ และลูกผสมของกล้วยไม้สกุลต่างๆ เหล่านี้เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลมและฝนหรือน้ำที่ใช้รด

ลักษณะอาการ

ใบจะเป็นแผลวงกลมสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลไหม้ ซึ่งขยายออกไปเป็นแผลใหญ่เห็นเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อที่เป็นแผลบุ๋มลึกลงไปต่ำกว่าระดับผิวใบเล็กน้อย กล้วยไม้บางชนิดมีขอบแผลเป็นเนื้อเยื่อสีเหลืองล้อมรอบแผล เช่น ลักษณะแผลของพวกแมลงปอ ฯลฯ บางชนิดแผลมีขอบสีน้ำตาลเข้มกว่าภายในและไม่มีขอบแผลสีเหลืองเลย เช่น แผลของกล้วยไม้ดินบางชนิด เนื้อเยื่อของแผลนานเข้าจะแห้งบางผิดปกติ ขนาดของแผลแตกต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อม บางแห่งมีเชื้อราอื่นมาขึ้นร่วมภายหลังทำให้แผลขยายกว้างออกไปจนมีลักษณะที่เป็นแผลวงกลม อย่างอาการเริ่มแรกกล้วยไม้ที่มีใบอวบอมน้ำมาก เช่น แคทลียา ลูกผสมแมลงปอ และกล้วยไม้ดินบางชนิดใบจะเน่าเปื่อยถ้าฝนตกชุก แต่โดยปกติจะเป็นแผลแห้งติดอยู่กับต้น

การป้องกันและกำจัด

โดยเก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดต่อไป และฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราทุกๆ 7–15 วันต่อครั้งส่วนฤดูฝนต้องฉีดพ่นเร็วกว่ากำหนด เช่น 5–7 วันต่อครั้ง เป็นต้น

โรคเน่าแห้ง

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii เป็นโรคที่พบตามแหล่งปลูกกล้วยไม้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอากาศร้อนชื้น ทำความเสียหายแก่กล้วยไม้หลายสกุล เช่น สกุลแวนด้า สกุลหวาย สกุลรองเท้านารีและสกุลออนซิเดี้ยม

ลักษณะอาการ

โดยเชื้อราจะเข้าทำลายกล้วยไม้บริเวณรากหรือโคนต้นแล้วแพร่ไปยังส่วนเหนือโคนต้นขึ้นไป บริเวณที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อเยื่อจะแห้งและยุ่ย ถ้าอากาศชื้นมากๆ จะเห็นเส้นใยสีขาวแผ่บริเวณโคนต้น ลักษณะที่เห็นได้ง่ายคือมีเม็ดกลมๆ ขนาดเล็กสีน้ำตาลคล้ายเมล็ดผักกาดเกาะอยู่ตามโคนต้น ในกล้วยไม้บางชนิดจะแสดงอาการที่ใบโดยจะทำให้ใบเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่ออากาศแห้งจะเหี่ยวและร่วงตายไปในที่สุดโรคนี้ระบาดมากในฤดูฝน ซึ่งเชื้อราชนิดนี้จะมีเมล็ดเป็นสีน้ำตาลกลมๆ ซึ่งทนต่อการทำลายของสารเคมีและสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้มีชีวิตอยู่ได้นาน

การป้องและกำจัด

ควรดูแลรังกล้วยไม้เสมอ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ควรเก็บรวบรวมใบแล้วเผาทำลายทิ้ง และราดทับหรือฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา เช่น เทอราโซลหรือไวตาแวกซ์

โรคเน่าเละ

เป็นโรคที่รู้จักกันดีในหมู่นักเลี้ยงกล้วยไม้ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas gladioli เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับกล้วยไม้หลายสกุล เช่น สกุลแคทลียา สกุลรองเท้านารี สกุลออนซิเดี้ยม สกุลซิมบิเดี้ยม ฟาแลนด์น๊อฟซิส เป็นต้น มักจะเกิดในเรือนกล้วยไม้ที่มีความชื้นสูง

ลักษณะอาการ

อาการเริ่มแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็กบนใบหรือบนหน่ออ่อน ทำให้เนื้อเยื่อมีลักษณะเหมือนถูกน้ำร้อนลวก คือใบจะพองเป็นสีน้ำตาล ฉ่ำน้ำ ถ้าเอามือจับแต่เบาๆ จะเละติดมือและมีกลิ่นเหม็น ซึ่งจะขยายลุกลามออกไปทั้งใบและหน่ออย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีสภาพอากาศร้อนและความชื้นสูง

การป้องกันและกำจัด

ตัดหรือแยกส่วนที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ในช่วงที่มีฝนตกหนักควรมีหลังคาพลาสติกคลุมอีกชั้นหนึ่งสำหรับลูกกล้วยไม้หรือไม้ปลูกใหม่ เพื่อไม่ให้แรงกระแทกของเม็ดฝนทำให้กล้วยไม้ช้ำและเป็นสาเหตุให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่าย ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้อากาศระหว่างต้นไม่ถ่ายเท เกิดความชื้นสูงและง่ายแก่การเกิดโรค นอกจากนี้การเร่งกล้วยไม้ให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงมากเกินไปจะทำให้ต้นและใบกล้วยไม้อวบหนา ซึ่งเหมาะแก่การเป็นโรคเน่าเละนี้มาก สำหรับยาเพื่อใช้กำจัดแบคทีเรียนิยมใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกสเตรปโตมัยซิน เช่น แอกริมัยซิน หรืออาจใช้ไฟแซน 20 หรือนาตริฟินก็ได้

โรคใบจุด

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phyllostictina psriformis พบมากในกล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลหวาย ทำให้ต้นกล้วยไม้มีการเจริญเติบโตลดลง เนื่องจากใบมีการปรุงอาหารได้น้อย โรคนี้มีปัญหามากกับผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อจำหน่ายต้น

ลักษณะอาการ

ในกล้วยไม้สกุลแวนด้า ลักษณะแผลเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวย ถ้าเป็นมากบางครั้งแผลจะรวมกันเป็นแผ่น บริเวณตรงกลางแผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาลดำ เมื่อลูบดูจะรู้สึกสากมือ ซึ่งในเวลาต่อมาตุ่มนูนนี้จะแตกออกมีสปอร์จำนวนมาก ระบาดในฤดูฝนถึงฤดูหนาว ส่วนลักษณะอาการที่เกิดกับสกุลหวายจะแตกต่างจากสกุลแวนด้า คือ ลักษณะแผลเป็นจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ขนาดแผลมีได้ตั้งแต่เท่าปลายเข็มหมุดจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 1 เซนติเมตร บางครั้งแผลจะบุ๋มลึกลงไป หรืออาจนูนขึ้นมาเล็กน้อยหรือเป็นสะเก็ดสีดำ เกิดได้ทั้งด้านบนใบและหลังใบ บางทีอาจมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือ บนใบจะมีอาการเป็นจุดกลมสีเหลือง เห็นได้ชัดเจน จุดกลมเหลืองเหล่านี้บางจุดจะมีสีดำบริเวณกลางและค่อยแผ่ขยายเป็นจุดกลมสีดำทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดปี

การป้องกันและกำจัด

ทำได้โดยการรวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสียหรือฉีดพ่นด้วยยาไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟ หรือยาประเภทคาร์เบนดาซิม เช่น เดอโรซาล เป็นต้น

เพลี้ยไฟ

เป็นที่รูจักกันดีในวงการผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ในชื่อว่า “ตัวกันสี” เป็นแมลงปากดูดที่มีขนาดเล็กมาก มีความยาวประมาณ ½-2 มิลลิเมตร รูปร่างเรียวยาว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ตัวอ่อนมีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน หรือสีดำ ตัวแก่มีปีกซึ่งมีลักษณะแคบยาว มักจะพบเห็นตัวอ่อนเกาะบนกล้วยไม้ เพลี้ยไฟมีการเคลื่อนไหวรวดเร็วมาก ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็นตัว

ลักษณะอาการ

เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่ดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนๆ เช่น ตามยอด ตาและดอก มักพบเพลี้ยไฟเข้าทำลายกล้วยไม้ในฤดูร้อนและฤดูฝน ทำความเสียหายมากแก่กล้วยไม้ในระยะที่ดอกตูมและดอกกำลังบาน โดยการดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ดอกตูมชะงักการเจริญเติบโต เป็นสีน้ำตาลและแห้งคาก้านช่อดอก ส่วนอาการที่ดอกบานเริ่มแรกจะเห็นเป็นรอยแผลสีซีดขาวที่ปากหรือกระเป๋า และตำแหน่งของกลีบดอกที่ซ้อนกัน ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาลเรียกว่า “ดอกไหม้หรือปากไหม้” ดอกเหี่ยวแห้งง่าย

การป้องกันและกำจัด

อาจใช้พอสซ์ในอัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไวเดทแอล อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ซีเอฟ 35 แอสที 10–15 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกเวลาการฉีดในช่วงเย็นๆ

ไรแดงหรือแมงมุมแดง

เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลหวาย ไรแดงเป็นศัตรูจำพวกปากดูดมีขนาดเล็กมาก แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นจุดสีแดงเล็กๆ เคลื่อนไหวได้ ไรแดงมีสีต่างๆ เช่น สีแดง สีเหลืองอมเขียว สีเหลืองและส้ม รูปร่างค่อนข้างกลม มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มทางด้านใต้ใบ

ลักษณะอาการ

ไรแดงจะทำลายทั้งใบและดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยง ถ้าดูดน้ำเลี้ยงที่ใบจะทำให้เกิดเป็นจุดด่าง ผิวใบไม่เรียบ มีสีเหลืองและค่อยๆ เป็นสีเข้มขึ้นจนถึงสีน้ำตาล ถ้ามีการทำลายมากๆ จะมองเห็นบริเวณนั้น

การป้องกันและกำจัด

ทำได้โดยเก็บใบและดอกที่ถูกทำลายไปเผาและใช้ยาเคลเธน อัตรา 30 ซีซี ฉีดพ่นทั้งต้น

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์กล้วยไม้เพื่อประโยชน์หลายประการคือ เพื่อเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้กล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้นานจนเป็นกอใหญ่และมีสภาพทรุดโทรมให้กลับมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และเพื่อเป็นการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ให้ได้กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่ดีขึ้น การขยายพันธุ์กล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธี แต่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ ซึ่งในแต่ละแบบแต่ละวิธีมีจุดมุ่งหมายและผลที่ได้แตกต่างกัน

การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร

หมายถึงการนำส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ที่ไม่ใช่ผลจากการผสมเกสรไปขยายพันธุ์ เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้ต้นใหม่ที่มีสายพันธุ์เหมือนต้นพันธุ์เดิมทุกประการ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์กล้วยไม้ต้นที่มีคุณลักษณะดีอยู่แล้ว เช่น มีความสวยงามเป็นพิเศษ หรือมีลักษณะที่เหมาะสมแก่การเป็นกล้วยไม้ตัดดอก การขยายพันธุ์กล้วยไม้โดยไม่มีการผสมเกสรแบ่งวิธีการขยายพันธุ์ตามลักษณะการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ดังนี้

การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทแตกกอ

กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบประเภทแตกกอหรือแบบซิมโพเดียล เช่น หวาย แคทลียา เมื่อหน่อหรือลูกกล้วยใดผลิดอกและต้นเริ่มร่วงโรย หน่อนั้นจะแตกหน่อใหม่ออกมาทดแทนทำให้กอแน่นขึ้น หากปล่อยให้กอแน่นเกินไปกล้วยไม้อาจทรุดโทรมเพราะมีธาตุอาหารไม่เพียงพอ เมื่อเห็นกอแน่นควรตัดแยกไปปลูกใหม่จะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ได้กล้วยไม้เพิ่มขึ้นและทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามดี การตัดแยกกล้วยไม้ไม่ควรทำในช่วงที่กล้วยไม้พักตัวในช่วงฤดูหนาว ควรทำในช่วงต้นฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้เจริญเติบโตดีและแตกหน่อใหม่ เครื่องมือที่ใช้ในการขยายพันธุ์คือมีดและปูนแดง สำหรับการขยายพันธุ์สามารถทำได้หลายวิธีคือ

การตัดแยกลำหลัง

เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้ได้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอที่มีลำลูกกล้วย เช่น กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลหวาย สกุลออนซิเดี้ยม เมื่อปลูกเลี้ยงนานจะมีกอขนาดใหญ่ขึ้นและมีลำลูกกล้วยมากขึ้น ถ้าไม่มีการตัดแยกออกจะทำให้ต้นทรุดโทรมและออกดอกน้อย การตัดแยกลำหลังนอกจากจะเป็นการขยายพันธุ์แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้กล้วยไม้เจริญเติบโตเร็วขึ้นและออกดอกง่ายขึ้นด้วย
การตัดแยกลำหลัง กล้วยไม้ที่จะตัดแยกควรมีลำลูกกล้วยอย่างน้อย 4 ลำ เพราะการตัดแยกแต่ละต้นที่ตัดแยกควรมีลำลูกกล้วยอย่างน้อย 2 ลำ และควรตรวจดูตาที่โคนลำหลังถ้าตาแห้งตายไปแล้วการตัดแยกจะไม่ได้ผล ใช้มีดหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้ชนิดใบบางที่คมๆ สอดเข้าไประหว่างลำลูกกล้วยแล้วตัดส่วนของเหง้าให้ขาดจากกัน ใช้ปลายมีดแบนๆ ป้ายปูนแดงแล้วทาที่บาดแผลให้ทั่ว เพื่อให้แผลแห้งและเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะเข้าทำลายทางบาดแผลด้วย เนื่องจากลำหลังเป็นลำแก่ที่อยู่ในระยะฟักตัว ถ้ายกไปปลูกเลยรากแก่อาจจะชำรุดได้ รากใหม่ก็ไม่มีโอกาสเจริญออกมา จะทำให้การแตกหน่อล่าช้าและได้หน่อใหม่ที่ไม่แข็งแรง การตัดแยกเพื่อให้เกิดลำใหม่เร็วควรทำในช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นระยะที่ต้นกล้วยไม้เริ่มจะเกิดหน่อใหม่หลังจากฟักตัวในช่วงฤดูหนาว หน่อใหม่จะเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมที่จะยกออกไปปลูกได้ในช่วงฤดูฝนพอดี

การตัดแยกลำหน้า

เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอทุกชนิด ลำหน้าเป็นลำกล้วยไม้ที่กำลังเจริญเติบโตและเป็นลำที่จะให้ดอก จึงไม่ค่อยนิยมตัดแยกลำหน้าไปปลูกใหม่ นอกจากมีความจำเป็นในบางกรณี เช่น กล้วยไม้เจริญเติบโตเป็นกอใหญ่จนเต็มล้นกระถางปลูกหรือเครื่องปลูกเน่าเปื่อยผุพัง จำเป็นต้องรื้อออกจากกระถางเก่าทั้งหมดแล้วนำไปตัดแบ่งแยกปลูกใหม่ หรือเป็นการตัดแยกลำหน้าเพื่อจำหน่ายซึ่งได้ราคาสูงกว่าการจำหน่ายกล้วยไม้ลำหลัง
วิธีการตัดแยกลำหน้า ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการแยกลำหลังไปปลูก คือปล่อยให้ลำหน้าเจริญเต็มที่จนถึงสุดขีดแล้วจะแตกหน่อใหม่จากตาจนกระทั่งหน่อที่เกิดใหม่มีรากโผล่ออกมาจึงตัดแยกไปปลูก โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดแยกลำหน้า 2 ลำติดกัน แล้วแยกไปปลูกได้เลย ซึ่งต่างจากการตัดแยกลำหลังที่ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้แตกหน่อใหม่ก่อนจึงจะยกไปปลูกได้ ระยะเวลาที่เหมาะที่สุดในการตัดแยกลำหน้าคือ เมื่อลำหน้าสุดมีรากและรากยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร การนำลำหน้าไปปลูกควรระวังอย่าให้รากอ่อนของลำหน้าสุดบอบช้ำ

การตัดชำ


การขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดชำใช้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอบางชนิด เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย ซึ่งเมื่อนำลำลูกกล้วยมาปักชำในที่เหมาะสมตาที่อยู่ตามข้อของลำลูกกล้วยจะแตกออกเป็นลำใหม่ได้ สำหรับลำหวายที่จะนำมาปักชำควรเป็นลำหลังที่ใบร่วงหมดแล้ว ถ้ายังมีใบติดอยู่ควรปลิดออกให้หมดและตัดรากออกให้หมด นำมาปักชำในกระบะทรายหยาบหรือกาบมะพร้าวอัดในแนวตั้งโดยให้โคนลำฝังลงไปประมาณ 2-3 ซม. ห่างกันประมาณ 4-5 ซม. เก็บไว้ในที่มีแสงแดดค่อนข้างจัด ให้โดนแดดเต็มที่เกือบครึ่งวัน รดน้ำให้ชุ่มวันละ 2–3 ครั้ง ตาที่อยู่ใกล้ปลายลำจะแตกเป็นลำใหม่ เรียกว่า “ตะเกียง” เมื่อลำตะเกียงเริ่มเกิดรากจึงตัดนำไปปลูกได้

การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ

กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบประเภทไม่แตกกอหรือแบบโมโนโพเดียล ได้แก่ ช้าง เข็ม เอื้องกุหลาบ แวนด้า การขยายพันธุ์โดยการตัดแยกทำได้หลายวิธี เช่น ถ้ามีหน่อออกมาจากโคนต้น ให้ตัดหน่อโดยติดรากไปด้วย 1-3 ราก แล้วนำไปปลูกใหม่ หรือใช้วิธีตัดยอดให้ติดราก 1-2 ราก แล้วนำไปปลูกใหม่ หากตัดยอดออกไปแล้วมีหน่อเกิดขึ้นก็สามารถแยกหน่อออกไปปลูกได้เช่นกัน

การตัดยอด

เป็นการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กับกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลเสือโคร่ง สกุลแมลงปอ และสกุลเรแนนเธอร่า กล้วยไม้ที่จะทำการตัดยอดควรควรเป็นกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตแข็งแรงและสูงพอสมควร มีรากติดอยู่กับส่วนยอดที่ต้องการตัดอย่างน้อย 2–3 รากขึ้นไป ถ้ามีรากติดอยู่กับส่วนยอดยิ่งมากยิ่งดี เพราะเมื่อนำยอดไปปลูกแล้วจะทำให้แข็งแรงและตั้งตัวเร็วขึ้น วิธีการตัดยอดโดยใช้มีดหรือกรรไกรที่คมและสะอาดตัด แล้วใช้ปูนแดงทาที่รอยตัดทั้งส่วนต้นและส่วนยอดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าบาดแผล นำส่วนยอดไปปลูกในที่ร่มหรือที่ที่มีแสงแดดน้อยกว่าปกติจนกว่ายอดนั้นจะตั้งตัวได้ จึงนำไปไว้ในที่ที่มีสภาวะปกติซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1–2 เดือน สำหรับส่วนต้นเมื่อนำไปปลูกก็จะมีหน่อหรือตะเกียงเกิดขึ้น

การแยกหน่อหรือตะเกียง

กล้วยไม้ เนื่องจากกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอมีการเจริญเติบโตทางยอดคือยอดจะยาวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และจะมีการแตกหน่อจากตาที่อยู่ข้างลำต้นเป็นหน่อหรือตะเกียง สำหรับต้นที่ไม่มีหน่อหรือตะเกียงเมื่อถูกตัดยอดไปปลูกจะทำให้ต้นที่ถูกตัดแตกหน่อได้ง่ายขึ้น หน่อหรือตะเกียงนี้สามารถตัดแยกไปปลูกใหม่ได้ การตัดแยกหน่อหรือตะเกียงไปปลูกใหม่ควรเป็นหน่อหรือตะเกียงที่เจริญเติบโตพอสมควร มีรากที่แข็งแรงและยาวพอสมควรติดอยู่อย่างน้อย 2–3 รากและมีใบ 2–3 คู่ ใช้มีดหรือกรรไกรคมๆ ตัดยอดกล้วยไม้ที่มีตะเกียงติดอยู่ ตรงบริเวณใต้ตะเกียงประมาณ 2-3 เซนติเมตร หรือตัดเฉพาะตะเกียงที่มีหน่อติดอยู่ ใช้ปูนแดงทาที่บาดแผลเพื่อป้องกันโรค นำหน่อหรือตะเกียงไปปลูกไว้ในที่ร่มจนกว่าจะตั้งตัวได้จึงนำไปไว้ในที่มีสภาพเหมาะสมตามปกติ ฤดูกาลที่เหมาะแก่การตัดแยกคือต้นฤดูฝนเพราะเป็นฤดูที่กล้วยไม้กำลังเจริญเติบโตเมื่อตัดแยกไปปลูกรากจะเจริญเกาะเครื่องปลูกได้เร็วกว่าฤดูอื่น ไม่ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก

การเพาะเนื้อเยื่อ

การเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้หรือที่เรียกกันว่า "การปั่นตา" เป็นการขยายพันธุ์กล้วยไม้ที่ทำให้ได้ต้นที่มีลักษณะพันธุ์เหมือนเดิมเป็นปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว โดยการนำเนื้อเยื่อจากส่วนต่างๆ ของกล้วยไม้ เช่น ตายอด ตาข้าง ปลายใบอ่อน มาเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ ในสภาพปลอดเชื้อและมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์วิธีนี้อาจมีโอกาสกลายพันธุ์ไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงแต่ก็พบได้ยาก
ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนำไปปลูกได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 10 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ ความสมบูรณ์ของหน่อ เทคนิคในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สูตรอาหารสังเคราะห์ และสภาพแวดล้อม ขั้นตอนสำคัญในการเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ พอสรุปได้ดังนี้
  • เลือกชิ้นส่วนของกล้วยไม้ที่มีเนื้อเยื่อเจริญที่สามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้ เช่น กล้วยไม้สกุลหวายใช้หน่ออ่อน ตาข้าง ตายอด ดอกอ่อน กล้วยไม้คัทลียาใช้หน่ออ่อน ตาข้าง ตายอด ปลายใบอ่อน กล้วยไม้สกุลแวนด้าและลูกผสมใช้ยอดอ่อนที่มีตาข้างและตายอด ช่อดอกอ่อน เป็นต้น
  • ฟอกฆ่าเชื้อที่ผิวชิ้นส่วนกล้วยไม้ให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ก่อนตัดส่วนเยื่อเจริญออกไปเพาะเลี้ยง
  • การเลี้ยงชิ้นส่วนหรือตาในระยะแรก เมื่อฟอกฆ่าเชื้อแล้วใช้มีดเจาะตาขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร นำไปเลี้ยงในอาหารเหลวหรืออาหารแข็งสูตรที่เหมาะสม ตาจะมีโปรโตคอร์ม (protocorm) สีเขียวแตกออกมารอบๆ ระยะนี้ต้องเปลี่ยนอาหารทุกสองสัปดาห์
  • การเพิ่มจำนวนโปรโตคอร์มโดยคัดเลือกโปรโตคอร์มที่เป็นก้อนกลมไม่มีใบยอด ไปเลี้ยงในอาหารสูตรที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มจำนวนโปรโตคอร์ม ถ้าโปรโตคอร์มพัฒนาเป็นยอดต้องตัดยอดทิ้งเพื่อให้เกิดการแตกโปรโตคอร์ม
  • การเลี้ยงโปรโตคอร์มให้เป็นต้น เมื่อได้จำนวนโปรโตคอร์มตามต้องการแล้ว ย้ายไปเลี้ยงในอาหารแข็งสูตรที่เหมาะสม ให้โปรโตคอร์มแต่ละหน่วยเจริญเติบโตเป็นต้นกล้ามีใบยอดและราก เมื่อต้นสูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็คัดแยกแต่ละต้นย้ายไปเลี้ยงในวุ้นอาหารสูตรถ่ายขวดประมาณ 50 ต้นต่อขวด เพื่อให้เจริญเติบโตแข็งแรง พร้อมที่จะนำออกปลูกภายนอกได้

การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรและเพาะเมล็ด

การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรนี้อาจทำให้ได้คุณภาพของกล้วยไม้ที่ผสมได้เปลี่ยนไปบ้างแต่ไม่มากนัก การขยายพันธุ์เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของกล้วยไม้ให้ดีขึ้น จำเป็นต้องคัดเลือกพันธุ์ที่ดีมาผสมกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อนำแวนด้า 2 ต้น ต้นหนึ่งดอกใหญ่ แต่สีไม่สด ช่อดอกไม่ยาว ส่วนอีกต้นหนึ่งดอกเล็ก แต่สีสด ก้านช่อยาว นำมาผสมกัน เพื่อให้ได้กล้วยไม้ที่มีลักษณะดีขึ้น ดอกใหญ่ สีสด ก้านช่อยาวและเลี้ยงง่ายขึ้น แต่ผลที่ได้จะสำเร็จตามต้องการหรือไม่ต้องรอจนกระทั่งกล้วยไม้ที่ผสมใหม่นั้นออกดอก ในการผสมพันธุ์กล้วยไม้จะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
  • กล้วยไม้ที่ผสมกันได้ต้องเป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญแบบเดียวกัน เช่น กล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดียลซึ่งเจริญเติบโตทางยอดต้องผสมกับกล้วยไม้ประเภทโมโนเดียลด้วยกัน จะผสมกับกล้วยไม้ประเภทซิมโพเดียลซึ่งเจริญเติบโตแบบแตกหน่อออกมาด้านข้างไม่ได้
  • กล้วยไม้ที่ผสมกันถ้าอยู่ในสกุลเดียวกันจะผสมกันได้ง่ายกว่า เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้าผสมกับกล้วยไม้สกุลแวนด้าด้วยกัน หรือกล้วยไม้สกุลข้างผสมกับสกุลช้างด้วยกัน
  • การผสมเกสรกล้วยไม้ต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่เจริญเติบโตเต็มที่ ถ้าต้นเล็กหรือลำต้นไม่แข็งแรงอาจทำให้อาหารที่มาเลี้ยงฝักไม่เพียงพอ เป็นผลให้ฝักไม่สมบูรณ์ เมื่อนำเมล็ดไปเพาะแล้วลูกไม้ที่เกิดมาอาจไม่แข็งแรงเลี้ยงยาก
  • ระยะเวลาที่เหมาะสมและความสมบูรณ์ของดอก คือ ดอกกล้วยไม้ที่บานเต็มที่ทั้งดอกแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ โดยลักษณะดอกที่บานเท่ากัน ไม่บานน้อยหรือบานมานานจนจวนจะโรย สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำการผสมพันธุ์ควรเป็นเวลาเช้า แสงแดดยังไม่จัดและไม่มีฝนตก
การผสมพันธุ์กล้วยไม้ นอกจากต้องคำนึงถึงดอกกล้วยไม้ที่ต้องบานเต็มที่ การผสมพันธุ์ต้องทำตอนเช้า เวลาที่ไม่มีแสงแดด ฝนไม่ตกแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์หรือไม้ที่ใช้เขี่ยเกสรตัวผู้ต้องสะอาดปราศจากเชื้อรา เมื่อปัจจัยทุกอย่างพร้อมจึงเริ่มทำการผสมพันธุ์กล้วยไม้ โดยนำไม้จิ้มฟันที่สะอาดเขี่ยเกสรตัวผู้ของต้นที่ต้องการให้เป็นพ่อพันธุ์ซึ่งมีเรณูอยู่มากมายใส่ลงที่ยอดเกสรตัวเมียของต้นแม่พันธุ์ซึ่งเป็นแอ่ง ในแอ่งนี้มีน้ำเมือกเหนียวๆ ใสคล้ายแป้งเปียก เมื่อนำก้อนเกสรตัวผู้ใส่ลงไปแล้ว น้ำเมือกจะช่วยให้ก้อนเกสรตัวผู้ติดอยู่ได้ ก้อนเกสรตัวผู้ที่เป็นสีเหลืองจะละลายอ่อนตัวกลืนเข้ากับน้ำเมือก เรณูของเกสรตัวผู้แต่ละเม็ดจะงอกเป็นหลอดเข้าไปในก้านดอกหรือรังไข่ หลอดแต่ละหลอดจะเข้าไปผสมกับไข่ตัวเมีย ไข่นั้นจะเกิดเป็นเชื้อที่สมบูรณ์ แล้วรังไข่ก็จะพองโตเกิดเป็นฝัก ฝักของกล้วยไม้จะแก่ต้องใช้เวลานาน เช่น ฝักของกล้วยไม้สกุลหวายใช้เวลาประมาณ 4–5 เดือน ฝักของกล้วยไม้สกุลแวนด้าใช้เวลาประมาณ 7–8 เดือน แต่ถ้าเป็นฝักของฟ้ามุ่ยจะต้องใช้เวลาประมาณ 17–18 เดือน การเพาะฝักกล้วยไม้จะเพาะฝักแก่หรือฝักอ่อนก็ได้ ฝักอ่อนกล้วยไม้มีสีเขียวแต่พอเริ่มแก่จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเป็นสีน้ำตาลเมื่อแกจัด ขณะที่ฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองต้องระวังไม่ให้ถูกน้ำ ฝักกล้วยไม้สุกจะมีสีเหลืองแบบมะนาวสุกแสดงว่าฝักสุก เก็บฝักไปเพาะได้ อย่ารอให้ฝักเป็นสีน้ำตาล เพราะฝักจะแตก
การเพาะฝักอ่อนต้องเป็นฝักอ่อนที่มีเชื้อสมบูรณ์แล้ว หลังจากผสมแล้ว ไข่จะกลายเป็นเชื้อที่สมบูรณ์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ เช่น หวายประมาณ 45 วัน แวนด้าประมาณ 80–90 วัน หรือใช้เวลาประมาณ 1 ใน 3 ของระยะฝักแก่ ฝักอาจแก่เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่สิ่งแวดล้อม เช่น แสงสว่าง ความชุ่มชื้น และความสมบูรณ์ เป็นต้น
หลังจากการผสมพันธุ์กล้วยไม้จนได้ฝักแล้วจึงนำเมล็ดภายในฝักมาทำการเพาะเมล็ด ฝักแต่ละฝักมีเมล็ดจำนวนมากตั้งแต่ 1,000 - 4,000,000 เมล็ด เมล็ดกล้วยไม้มีลักษณะแตกต่างจากเมล็ดของพืชชนิดอื่นตรงที่มีขนาดเล็กมากจนแทบจะเป็นละออง เพราะภายในเมล็ดไม่มีอาหารสำหรับต้นอ่อนเหมือนเมล็ดพืชอื่นๆ จึงทำไห้เมล็ดกล้วยไม้มีขนาดเล็กมาก ตามธรรมชาติเมล็ดสามารถงอกได้โดยอาศัยเชื้อราบางชนิดที่อาศัยอยู่ตามรากกล้วยไม้ ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ ให้เป็นอาหารแก่ต้นอ่อน ในสมัยก่อนจึงใช้วิธีหว่านเมล็ดจากฝักแก่ลงบริเวณโคนต้นของกล้วยไม้สกุลเดียวกัน แต่อัตราการงอกตามธรรมชาตินี้มีน้อยมาก ปัจจุบันใช้การเพาะเมล็ดในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งมีธาตุต่างๆ ของกล้วยไม้ในปริมาณและสัดส่วนที่พอเหมาะ แต่อาหารดังกล่าวก็เป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศด้วย ดังนั้นการเพาะเมล็ดกล้วยไม้จึงต้องเพาะในขวดเพาะ และอุปกรณ์ต่างๆ ในการเพาะต้องทำให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ด้วย เพราะเชื้อจุลินทรีย์จะเข้าทำลายเมล็ดกล้วยไม้ได้
การเพาะเมล็ดกล้วยไม้อาจเพาะได้ทั้งเมล็ดจากฝักแก่และเมล็ดจากฝักอ่อน ข้อดีของการเพาะเมล็ดจากฝักอ่อน คือ ประหยัดเวลา ไม่ต้องรอจนฝักแก่ ต้นแม่พันธุ์ไม่โทรมเนื่องจากต้องเลี้ยงฝักนาน และป้องกันปัญหาฝักร่วงก่อนกำหนด แต่ข้อเสียของการใช้ฝักอ่อนคือต้องรีบเพาะทันทีหลังจากตัดฝักจากต้น มิฉะนั้นฝักจะเหี่ยวหรือเสีย แต่ถ้าเป็นฝักแก่หากเก็บไว้ในที่แห้งและเย็นจะสามารถเก็บได้นานเป็นปี

การให้น้ำและปุ๋ย

น้ำ

มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ เนื่องจากน้ำเป็นตัวทำละลายสารอาหารต่างๆ เพื่อให้รากของกล้วยไม้สามารถดูดอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ กล้วยไม้ต้องการน้ำที่สะอาดปราศจากเกลือแร่ที่เป็นพิษ มีความเป็นกรดเป็นด่างหรือค่า pH อยู่ระหว่าง 6–7 แต่น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดต่อความต้องการของกล้วยไม้ คือ น้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ มีค่า pH ประมาณ 6.5 น้ำที่มี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 7 จึงไม่ควรนำมาใช้รดกล้วยไม้ การทดสอบคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำแบบง่ายๆ คือ ทดสอบด้วยกระดาษลิสมัส ในการเลี้ยงกล้วยไม้ถ้าน้ำมี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 7 หากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำนี้รดกล้วยไม้ เนื่องจากไม่สามารถหาน้ำที่มีคุณสมบัติดีกว่า ควรทำให้น้ำมี pH อยู่ระหว่าง 6-7 ก่อน ดังนี้
  • น้ำที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 คือน้ำมีฤทธิ์เป็นกรดค่อนข้างมาก แก้ไขโดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ตุ่มหรือโอ่งไว้แล้วใช้ โซเดียมไฮดร็อกไซด์ ค่อยๆ เทใส่ลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนทั่ว ทำการทดสอบระดับ pH จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7
  • น้ำที่มีค่า pH สูงกว่า 7 คือน้ำที่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนตปนอยู่ในน้ำแสดงว่าน้ำนั้นมีความเป็นด่างมากไม่เหมาะที่จะนำไปรดกล้วยไม้ วิธีแก้หรือทำให้น้ำนั้นมี pH อยู่ที่ 6-7 ก่อน โดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ถัง ตุ่มหรือโอ่งไว้ แล้วใช้ กรดไนตริก ค่อยๆ เทใส่ลงไป คนหรือกวนให้เข้ากันจนทั่ว จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7

แหล่งหรือชนิดของน้ำ

  • น้ำฝน เป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด เนื่องจากไม่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ปนอยู่ และมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ คือมี pH ประมาณ 6.5 ซึ่งเหมาะสมต่อความต้องการของกล้วยไม้มากที่สุด ข้อเสียในการใช้น้ำฝนคือการกักเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณมากเพียงพอกับปริมาณของกล้วยไม้ต้องใช้เนื้อที่และภาชนะมาก
  • น้ำประปา เป็นน้ำที่ผ่านกรรมวิธีการตกตะกอนและได้รับการปรุงแต่งในด้านความสะอาดและความเป็นกรดเป็นด่างมาแล้ว เป็นน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ได้ดีรองมาจากน้ำฝน ข้อเสียของน้ำประปาก็คือจะมีคลอรีนซึ่งเป็นพิษต่อกล้วยไม้ปนอยู่ด้วย วิธีแก้โดยใส่น้ำประปาในตุ่มหรือภาชนะวางไว้กลางแดดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้คลอรีนสลายตัวไปเสียก่อนจึงนำไปใช้รดกล้วยไม้ได้
  • น้ำบาดาล เป็นน้ำที่ได้จากการเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปจากผิวดินจะมีฤทธิ์เป็นด่าง และมีสารเกลือแร่ต่างๆ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนต เกลือแร่พวกนี้ทำให้ฟอสเฟตบางชนิดตกตะกอนภายในรากกล้วยไม้และทำให้รากกล้วยไม้ผุง่าย ดังนั้นก่อนนำไปใช้ควรกำจัดสารที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้เหล่านี้เสีย โดยต้องให้ค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7 เสียก่อน หากไม่สามารถแก้ไขได้ไม่ควรนำไปใช้รดกล้วยไม้ เพราะจะทำให้กล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตและอาจตายไปในที่สุด วิธีการปรับน้ำบาดาลโดยการผสมกรดฟอสฟอริก 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปีบ ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน จึงใช้รดต้นไม้ได้ และยังเป็นการเพิ่มปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืชอีกด้วย
  • น้ำบ่อหรือน้ำคลอง เป็นน้ำที่มีดินหรือตะกอนทำให้น้ำขุ่นและมีสารเกลือแร่ต่างๆ ปนอยู่และมีฤทธิ์เป็นด่าง ถ้าน้ำไม่เน่าเสียมีกลิ่นเหม็น ก่อนนำไปใช้ควรทำการกรองให้น้ำใสและปรับปรุงคุณภาพให้ปราศจากสารเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ และทำให้มีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7 ก่อนนำไปรดกล้วยไม้ แต่ถ้าน้ำเน่าเสียกลิ่นเหม็นมีเชื้อโรคไม่ควรนำไปรดกล้วยไม้เพราะโรคอาจระบาดต่อไปยังกล้วยไม้ได้ ข้อเสียของน้ำบ่อหรือน้ำคลอง คือ มื่อนำมาใช้รดกล้วยไม้มักจะทำให้เกิดตะไคร่น้ำจับกระถาง เครื่องปลูก และรากกล้วยไม้ได้ง่าย ซึ่งตะไคร่น้ำจะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรและไม่สวยงามตามต้องการ

การให้น้ำ

วิธีการให้น้ำกล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธี จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อายุของกล้วยไม้ และความสะดวกของผู้ปลูกเลี้ยงเอง ซึ่งวิธีการให้น้ำมีดังนี้
  • จุ่มน้ำ โดยตักน้ำใส่ภาชนะแล้วนำกล้วยไม้มาจุ่มลงในน้ำ การจุ่มน้ำมีข้อดีคือน้ำจะซึมไปทั่วทุกส่วนของเครื่องปลูก เหมาะกับกล้วยไม้ที่ไม่มีรากเกะกะ เช่น สกุลหวาย สกุลแคทลียา มีเครื่องปลูกแน่น เช่น กาบมะพร้าวอัด ออสมันด้าอัด หรือเครื่องปลูกหนัก เช่น อิฐ กรวด ถ้าเครื่องปลูกเบา เช่น ถ่าน ถ่านจะลอย การรดน้ำวิธีนี้เป็นการล้างเครื่องปลูกให้สะอาดอยู่เสมออีกด้วย ข้อเสียคือการจุ่มน้ำบ่อยๆ อาจทำให้ รากอ่อน หน่ออ่อน ไปกระทบกระแทกกับภาชนะที่ใส่น้ำได้ และถ้ากล้วยไม้มีโรคแมลงอาศัยอยู่ น้ำในภาชนะอาจเป็นพาหะให้โรคแมลงระบาดได้ง่าย และการให้น้ำวิธีนี้ไม่เหมาะกับปริมาณกล้วยไม้มากๆ เพราะเป็นวิธีที่ช้ามาก เหมาะกับกล้วยไม้จำนวนน้อย และปลูกเลี้ยงในที่ไม่ต้องการให้พื้นเฉอะแฉะ เช่นระเบียงบ้าน ริมหน้าต่าง เป็นต้น
  • ไขน้ำให้ท่วม โดยทำโต๊ะปลูกกล้วยไม้ที่ขังน้ำได้ เวลาจะให้น้ำก็ไขน้ำให้ขังเต็มโต๊ะ ทิ้งไว้จนเห็นว่าเครื่องปลูกดูดซับน้ำเพียงพอแล้วจึงไขน้ำออก วิธีนี้ทำได้รวดเร็วกับกล้วยไม้จำนวนมาก ไม่ทำให้กล้วยไม้ไม่บอบช้ำ แต่ป้องกันโรคระบาดจากแมลงได้ยาก
  • ใช้บัวรดน้ำ วิธีนี้มีข้อดีคือต้นทุนต่ำ ส่วนข้อเสียคือถ้ามีกล้วยไม้จำนวนมากจะต้องใช้เวลาในการรดน้ำมาก หรือถ้าขาดความระมัดระวังฝักบัว ก้านบัว อาจจะกระทบต้น กระทบดอกกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้บอบช้ำได้
  • สายยางติดหัวฉีด การใช้สายยางควรใช้หัวฉีดชนิดฝอยละเอียด การรดน้ำวิธีนี้สะดวก รวดเร็วและทุ่นแรง เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก
  • สปริงเกอร์ คือการใช้หัวฉีดติดตั้งอยู่กับที่แล้วพ่นน้ำเป็นฝอยให้กระจายไปทั่วบริเวณที่ต้องการ การรดวิธีนี้สะดวกสบายและรวดเร็วที่สุด ข้อเสียคือต้องลงทุนสูงและใช้ได้กับกล้วยไม้ที่มีความต้องการน้ำเหมือนๆ กัน ไม่เหมาะกับการเลี้ยงกล้วยไม้จำนวนน้อย แต่หลากหลายชนิด

เวลาที่เหมาะสมแก่การให้น้ำ


การรดน้ำกล้วยไม้ปกติควรรดวันละครั้ง ยกเว้นวันที่ฝนตกหรือกระถางและเครื่องปลูกยังมีความชุ่มชื้นอยู่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดในเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เวลาที่เหมาะสมคือตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00–9.00 น. เพราะนอกจากจะไม่ร้อนแล้วจะมีช่วงเวลาที่มีแสงแดดยาวนาน กล้วยไม้มีความจำเป็นต้องใช้แสงแดดไปช่วยในการปรุงอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ฉะนั้นช่วงเวลากลางวันจึงเป็นเวลาที่กล้วยไม้ต้องใช้รากดูดความชื้นและนำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากที่สุด การรดน้ำในเวลาเช้าจึงได้รับประโยชน์มากที่สุด
        ในการรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้เปียก เพื่อเป็นการชะล้างเศษปุ๋ยที่เหลือตกค้างซึ่งอาจเป็นพิษแก่กล้วยไม้ ให้ไหลหลุดไป ไม่ควรรดน้ำแรงๆ หรือรดน้ำอยู่กับที่นานๆ ควรรดแบบผ่านไปมาหลายๆ ครั้งจนเปียกโชก ทั้งนี้เพื่อให้กระถางและเครื่องปลูกมีโอกาสดูดซึมอุ้มน้ำไว้เต็มที่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้ถูกเฉพาะรากกระถางและเครื่องปลูกเท่านั้น ไม่ควรรดน้ำให้ถูกเรือนยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ที่มีเรือนยอดใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลช้าง เพราะน้ำอาจตกค้างอยู่ที่เรือนยอดซึ่งอาจทำให้เกิดโรคยอดเน่าได้

ปุ๋ย

ที่นำมาให้กับกล้วยไม้นั้นแบ่งออกได้ 2 ประเภทด้วยกัน คือ
  • ปุ๋ยอินทรีย์ คือปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร ไก่ และซากพืชที่ตายทับถมกันจนเน่าเปื่อยผุพัง เหมาะกับการเพาะปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบกึ่งดินหรือกล้วยไม้ดิน เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้องพร้าว สกุลช้างผสมโขลง สกุลสเปโธกล๊อสติส เป็นต้น
  • ปุ๋ยอนินทรีย์ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือ ปุ๋ยเคมี เป็นปุ๋ยที่ได้จากการสังเคราะห์ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยธาตุอาหารหลักที่สำคัญต่อพืช 3 ชนิด คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม การใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับความต้องการของกล้วยไม้ เช่น ลูกกล้วยไม้มีความต้องการธาตุไนโตรเจนสูงเพื่อบำรุงราก ลำต้น และใบให้เจริญงอกงาม การใช้ปุ๋ยกับลูกกล้วยไม้จะต้องเลือกปุ๋ยสูตรที่มีธาตุไนโตรเจนค่อนข้างสูง ส่วนฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียมปานกลางหรือต่ำ
โดยทั่วไปนิยมใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในการปลูกกล้วยไม้ เพราะนอกจากจะละลายน้ำได้ดี สะดวกในการใช้ ยังมีธาตุอาหารครบถ้วนตามความต้องการของกล้วยไม้ด้วย ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ใช้กับกล้วยไม้มี 3 ลักษณะ คือ ลักษณะเป็นน้ำ เป็นเกล็ดละลายน้ำ และเป็นเม็ดละลายช้า
  • ปุ๋ยน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารละลายอยู่ในรูปของของเหลว เมื่อต้องการใช้ต้องนำมาผสมกับน้ำตามส่วนที่ระบุบนฉลาก ข้อดีของปุ๋ยน้ำคือละลายง่าย กล้วยไม้สามารถดูดไปใช้ได้เลย ไม่ตกค้างอยู่ในเครื่องปลูก ซึ่งถ้ามีปุ๋ยตกค้างอยู่ในเครื่องปลูกมากอาจเป็นอันตรายต่อกล้วยไม้ได้
  • ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่างๆ ที่จำเป็นผสมอยู่ตามสัดส่วน เมื่อจะใช้ต้องนำไปผสมกับน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุปุ๋ย ปุ๋ยผงบางชนิดละลายน้ำได้ดี แต่บางชนิดละลายไม่หมด ปุ๋ยผงจึงไม่เหมาะสำหรับรดกล้วยไม้มากเท่ากับปุ๋ยน้ำ
  • ปุ๋ยเม็ดละลายช้า เป็นปุ๋ยชนิดเม็ดเคลือบที่ภายในบรรจุปุ๋ยไว้เพื่อให้ปุ๋ยค่อยๆ ละลายออกมาอย่างช้าๆ ปุ๋ยชนิดนี้จึงใส่เพียงครั้งเดียวจึงสามารถอยู่ได้นานหลายเดือน จึงทำให้ง่ายในการใช้ ประหยัดแรงงานไม่ต้องใส่บ่อยๆ แต่ปุ๋ยชนิดนี้มีราคาสูง และเหมาะกับกล้วยไม้ที่มีเครื่องปลูกอย่างกล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและรากกึ่งอากาศ เช่น แวนด้า หวาย แคทลียา

การให้ปุ๋ย

ระยะแรกของการปลูกกล้วยไม้ควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของลำต้นและใบ เมื่อต้นกล้วยไม้เจริญถึงระยะให้ดอกหรือต้องการเร่งให้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูงเพื่อกระตุ้นให้กล้วยไม้ออกดอก
ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ในช่วงฤดูร้อนควรให้ปุ๋ยมากกว่าฤดูหนาวกับฤดูฝน ลูกกล้วยไม้ควรให้ปุ๋ยในอัตราที่อ่อนกว่ากล้วยไม้ใหญ่ ถ้าเป็นต้นที่โตเร็วและได้รับแสงแดดมากต้องให้ปุ๋ยมากกว่าพวกที่โตช้าและเลี้ยงในร่ม การให้ปุ๋ยควรให้สัปดาห์ละครั้ง การรดปุ๋ยกล้วยไม้ควรรดให้ถูกส่วนรากเพราะเป็นส่วนที่ดูดธาตุอาหารและน้ำได้ดีกว่าใบ และไม่ทำให้กล้วยไม้บอบช้ำ วิธีการให้ปุ๋ยกล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
  • รดด้วยบัวรดน้ำชนิดฝอย การให้ปุ๋ยวิธีนี้ถ้ารดกล้วยไม้ที่แขวนราวหลายๆ ราว กล้วยไม้ที่อยู่ราวในๆ จะได้รับปุ๋ยไม่ทั่วถึง วิธีแก้ไขโดยแขวนกล้วยไม้เป็นแถวตามแนวตั้ง ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การรดน้ำหรือรดปุ๋ยด้วยฝักบัวและสะดวกแก่การบำรุงรักษาได้ทั่วถึงด้วย ถ้าใช้วิธีตั้งกล้วยไม้ไว้บนชั้นแล้วการรดน้ำหรือรดปุ๋ยด้วยวิธีนี้จะสะดวกขึ้น
  • พ่นด้วยเครื่องฉีดชนิดฝอย เป็นวิธีที่เหมาะกับทุกลักษณะของกล้วยไม้ ไม่ว่าจะตั้งหรือแขวนกล้วยไม้ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้ แต่ควรเป็นเครื่องฉีดชนิดสูบหรืออัดลม ข้อดีคือทำให้กล้วยไม้ได้รับปุ๋ยทั่วถึงโดยไม่เป็นอันตรายหรือบอบช้ำจากการกระทบกระเทือนหรือกระแสน้ำแรงเกินไป
  • วิธีจุ่ม คือการให้ปุ๋ยโดยจุ่มกระถางกล้วยไม้ลงในน้ำปุ๋ยที่ผสมไว้ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่เปลืองน้ำปุ๋ยเพราะน้ำปุ๋ยไม่รั่วไหลไปไหนนอกจากติดไปกับกระถางกล้วยไม้ ความชุ่มของน้ำปุ๋ยในกระถางทั่วถึงดี ข้อเสียคือกล้วยไม้บางกระถางอาจมีโรคและแมลงอาศัยอยู่ เมื่อจุ่มลงในน้ำปุ๋ยโรคและแมลงจะปนออกมากับน้ำปุ๋ย เมื่อนำกระถางกล้วยไม้อื่นมาจุ่มจะทำให้ติดเชื้อโรคและแมลงนั้นได้ ฉะนั้นวิธีนี้จึงอาจเป็นสื่อติดต่อของโรคและแมลงได้ง่าย และถ้าหากไม่ใช้ความระมัดระวังแล้วหน่อที่แตกใหม่อาจจะกระทบกับความแข็งของภาชนะที่ใส่ปุ๋ยทำให้บอบช้ำและเน่าได้
  • ปล่อยน้ำปุ๋ยเข้าท่วมกระถางแล้วระบายออก วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการปลูกกล้วยไม้หรือต้นไม้กระถางในเรือนกระจกใหญ่ๆ โดยตั้งกระถางบนโต๊ะที่ทำเป็นอ่างเก็บน้ำได้ เมื่อต้องการให้ปุ๋ยก็ปล่อยน้ำปุ๋ยที่ผสมตามสัดส่วนให้เข้าไปท่วมกระถางกล้วยไม้ตามระยะกำหนดเวลาที่ต้องการ เมื่อเสร็จแล้วก็ระบายน้ำปุ๋ยออก วิธีนี้ถ้านำไปใช้กับบริเวณเนื้อที่ที่มีต้นไม้มากๆ และเป็นบริเวณที่ควบคุมสภาพของธรรมชาติแวดล้อมได้จะได้ผลดี
  • ใช้เครื่องผสมปุ๋ยกับน้ำ เป็นเครื่องผสมปุ๋ยแบบอัตโนมัติที่ใช้ในการผสมปุ๋ยกับน้ำตามอัตราส่วนที่ต้องการ โดยต่อเครื่องเข้ากับท่อน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ ภายในเครื่องมีปุ๋ยละลายน้ำเข้มข้นอยู่ เมื่อรดน้ำ ปุ๋ยก็จะผสมไปกับน้ำแล้วพ่นออกไปสู่กล้วยไม้ผ่านไปทางหัวฉีดทันที เครื่องผสมปุ๋ยนี้สามารถจะปรับหรือตั้งเพื่อให้ปุ๋ยผสมไปกับน้ำตามอัตราความเข้มที่ต้องการได้ จึงเหมาะสำหรับสวนกล้วยไม้ที่มีจำนวนกล้วยไม้มากๆ
สำหรับการให้ปุ๋ยชนิดเม็ดละลายช้าทำโดยโรยเม็ดปุ๋ยบริเวณเครื่องปลูกที่ใกล้กับรากของกล้วยไม้ตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างภาชนะที่บรรจุปุ๋ย

เวลาที่เหมาะแก่การให้ปุ๋ย

เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับการให้ปุ๋ยอยู่มาก เช่น ปุ๋ยจะเป็นประโยชน์แก่กล้วยไม้ได้ต้องมีแสงสว่าง มีความอบอุ่น อุณหภูมิพอเหมาะและมีความชุ่มชื้นพอดี เป็นต้น แสงสว่างหรือแสงแดดที่เป็นประโยชน์แก่กล้วยไม้คือแสงแดดในตอนเช้า ตั้งแต่เช้าจนถึง เวลาประมาณ 11.00 น. หลังจากนี้แสงแดดจะแรงและมีความร้อนสูงเกินไป การรดปุ๋ยในเวลาเช้า แสงแดดจะช่วยให้กล้วยไม้ได้ใช้ปุ๋ยได้เต็มที่ เพราะแสงแดดช่วยผลิตกำลังงานที่จะใช้ดูดปุ๋ยขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความเจริญเติบโตของกล้วยไม้
การรดปุ๋ยควรรดสม่ำเสมออาทิตย์ละครั้ง เพื่อกล้วยไม้จะได้รับปุ๋ยหรืออาหารอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากวันที่ครบกำหนดให้ปุ๋ยอากาศครึ้มฝนไม่ควรรดปุ๋ย เนื่องจากไม่มีแสงแดดช่วยกล้วยไม้ก็ไม่สามารถดูดซึมปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และถ้าหากฝนตกปุ๋ยก็จะถูกชะล้างไปกับฝนโดยที่กล้วยไม้ไม่ได้รับประโยชน์จากปุ๋ยนั้นเลย จึงควรงดการให้ปุ๋ยในวันดังกล่าว และอาจเลื่อนการให้ปุ๋ยไปในวันถัดไป หรืออาจงดให้ปุ๋ยในอาทิตย์นั้นแล้วไปรดในอาทิตย์ถัดไปก็ได้

วิธีการปลูก

วิธีการปลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบังคับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ถ้าใช้วิธีการปลูกที่ไม่เหมาะสม กล้วยไม้ก็ไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จึงจำเป็นต้องศึกษาความต้องการของกล้วยไม้แต่ละชนิด เลือกภาชนะปลูกและเครื่องปลูก รวมทั้งวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ

ภาชนะปลูก

ภาชนะที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้มีส่วนสำคัญต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้ ดังนั้นจึงควรจัดภาชนะปลูกให้เหมาะกับการเจริญของรากกล้วยไม้แต่ละประเภท ภาชนะสำหรับปลูกกล้วยไม้มีหลายชนิด ดังนี้

กระถางดินเผาทรงเตี้ย

เป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 4-6 นิ้ว สูง 2-4 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถาง เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ มะพร้าวสับ วางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระถาง

กระถางดินเผาทรงสูง

เป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 3-4 นิ้ว สูง 4-5 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถางแต่รูน้อยกว่ากระถางทรงเตี้ย เหมาะกับกล้วยไม้ที่ต้องการเครื่องปลูกหรือกล้วยไม้รากกึ่งอากาศ เช่น คัทลียา หวาย โดยปลูกด้วยกาบมะพร้าวอัดเรียงตามแนวตั้งจนแน่น ยึดรากและโคนกล้วยไม้ตรงกลางกระถางให้แน่น

กระเช้าไม้สัก

ทำจากไม้สักหรือไม้ชนิดอื่น นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีขนาดตั้งแต่ขนาด 4x4 นิ้ว ถึง 10x10 นิ้ว เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ มีต้นใหญ่ รากใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกด้วยกระเช้าไม้สักภายในไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ 2-3 ก้อนวางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระเช้า

กระเช้าพลาสติก

เป็นกระเช้าที่ทำจากพลาสติกสีดำ ราคาถูก มีหลายแบบ หลายขนาด แต่ที่นิยมใช้มี 2 ขนาด คือ ขนาดทรงเตี้ยใช้ปลูกกล้วยไม้แวนด้า และ ขนาดทรงสูงใช้ปลูกกล้วยไม้หวาย ลักษณะการปลูกเช่นเดียวกับกระถางดินเผาทรงเตี้ยและกระถางดินเผาทรงสูง

กระถางดินเผามีรูก้นกระถาง

เป็นกระถางดินเผาชนิดเดียวกับที่ใช้ปลูกต้นไม้ทั่วไป มีรูระบายน้ำอยู่ที่ก้นกระถางเพียงรูเดียว ทั้งแบบทรงสูงทั่วไปและแบบทรงเตี้ย มีขนาดตั้งแต่ 4-10 นิ้ว นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งดิน เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้องพร้าว สกุลคูลู และสกุลสเปโธกล๊อตติส

ท่อนไม้ที่มีเปลือก

โดยผูกกล้วยไม้ติดกับท่อนไม้ที่มีเปลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ปลายหนึ่งของท่อนไม้ยึดติดกับลวดไว้สำหรับแขวนกับราว เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลแวนด้า

ต้นไม้ใหญ่

โดยการปลูกยึดติดกับต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศและรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลหวาย สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากอากาศสามารถใช้ลวดหรือเชือกผูกติดกับต้นไม้ได้เลย แต่สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากกิ่งอากาศให้หุ้มด้วยกาบมะพร้าวทับอีกชั้นหนึ่ง ยึดกาบมะพร้าวด้วยตาข่ายหรือซาแลนอีกชั้นหนึ่ง

เครื่องปลูก

วัสดุที่ใส่ลงไปในภาชนะที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ เป็นที่เก็บอาหาร เก็บความชื้น หรือปุ๋ยของกล้วยไม้ และเพื่อให้รากของกล้วยไม้เกาะ ลำต้นจะได้ตั้งอยู่ได้ เครื่องปลูกที่เหมาะสมกับลักษณะการเจริญเติบโตของรากกล้วยไม้จะทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง เครื่องปลูกที่นิยมใช้มีดังนี้

ออสมันด้า

เป็นเครื่องปลูกที่ได้มาจากรากของเฟิร์น ลักษณะเป็นเส้นยาว สีน้ำตาลจนเกือบดำ ค่อนข้างแข็ง ก่อนที่จะใช้ต้องล้างให้สะอาด แล้วจึงอัดตามยาวลงไปในกระถาง ก่อนที่จะอัดลงในกระถางควรรองก้นกระถางด้วยกระเบื้องแตกหรือถ่านประมาณครึ่งหนึ่งของกระถาง เพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวกไม่ควรอัดออสมันด้าให้เต็มกระถาง ก่อนใช้ควรแช่น้ำหรือต้มเพื่อฆ่าเชื้อราเสียก่อน ออสมันด้าเป็นเครื่องปลูกที่ดี แต่ราคาค่อนข้างสูง สามารถเลี้ยงกล้วยไม้ได้เจริญงอกงามสม่ำเสมอ มีอายุการใช้งาน 2–3 ปี แต่มีข้อเสีย คือ มีตะไคร่น้ำขึ้นหน้าเครื่องปลูก และเกิดเชื้อราง่าย ออสมันด้าใช้ปลูกกล้วยไม้แบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา

กาบมะพร้าว

เป็นเครื่องปลูกที่นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้มาก เพราะหาง่าย ราคาถูก เหมาะที่จะใช้อัดลงในกระถางดินเผาสำหรับใช้ปลูกกล้วยไม้รากกึ่งอากาศเช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา วิธีทำคือใช้กาบมะพร้าวแห้งที่แก่จัดและมีเปลือก อัดตามยาวให้แน่นลงในกระถาง ตัดหน้าให้เรียบ แล้วใช้แปรงลวดปัดหน้าให้เป็นขน เพื่อให้ดูดซับน้ำดีขึ้น เครื่องปลูกกาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูกที่ได้ความชื้นสูง เหมาะสำหรับกล้วยไม้ปลูกใหม่ เพราะจะทำให้ตั้งตัวเร็ว จึงทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามเร็วกว่าปลูกด้วยเครื่องปลูกชนิดอื่นๆ แต่มีข้อเสียคือมีอายุการใช้งานได้ไม่นาน คือมีอายุใช้งานได้เพียงปีเดียวเครื่องปลูกก็ผุ ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือเกิดตะไคร่น้ำได้ง่าย เนื่องจากกาบมะพร้าวอมความชื้นไว้ได้มาก จึงควรรดน้ำให้น้อยกว่าเครื่องปลูกชนิดอื่น

ถ่าน

ถ่านไม้จัดเป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ที่ดีชนิดหนึ่ง เพราะหาง่าย ราคาไม่แพง คงทนถาวร ไม่เน่าเปื่อยผุพังง่ายและดูดอมน้ำได้ดีพอเหมาะไม่ชื้นแฉะเกินไป ยังช่วยดูดกลิ่นที่เน่าเสียและทำให้อากาศบริสุทธิ์อีกด้วย แต่มีข้อเสียคือมักจะมีเชื้อราอยู่ ในการใช้ถ่านเป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลแคทลียา ควรใช้ถ่านป่นซึ่งเป็นก้อนเล็กๆ ผสมกับอิฐ หรือใช้อิฐหักรองก้นกระถางประมาณครึ่งกระถาง แล้วใช้ถ่านป่นใส่ทับข้างบนจนเต็มหรือเกือบเต็มกระถาง จากนั้นจึงเอากล้วยไม้ปลูกโดยวางทับไว้บนถ่านอีกชั้นหนึ่ง สำหรับถ่านที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ ถ้าเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กหรือยังเป็นลูกกล้วยไม้อยู่ เช่น มีขนาดสูงไม่เกิน 3 นิ้ว ควรใส่ถ่านก้อนเล็กๆ หรือใส่ถ่านป่นไว้บ้างพอสมควร แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดโดแล้วควรใส่ก้อนใหญ่ๆ ไว้ประมาณ 5-10 ก้อน เพื่อช่วยอุ้มความชุ่มชื้นไว้ให้กล้วยไม้ การที่ใส่ถ่านก้อนโตๆ จำนวนเล็กน้อยในการปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศก็เพื่อต้องการให้บริเวณภายในกระถางมีช่องว่างมากๆ และโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเหมาะแก่ความต้องการหรือความเจริญเติบโตของกล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ

ทรายหยาบและหินเกล็ด

การปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศโดยเฉพาะพวกสกุลหวาย มักใช้ทรายหยาบและหินเกล็ดที่ล้างสะอาดแล้วเป็นเครื่องปลูก โดยก้นกระถางใส่อิฐหักหรือหรือถ่านป่นไว้ ส่วนด้านบนใช้ทรายหยาบโรยหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยทับด้วยหินเกล็ดหนาประมาณครึ่งนิ้ว จากนั้นจึงนำหน่อกล้วยไม้ที่แยกจากกอเดิมไปปลูกวางไว้บนหินเกล็ด แล้วมัดติดกับหลักเพื่อยึดไม่ให้ล้มจนกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกใหม่นี้มีรากยึดเครื่องปลูกและตั้งตัวได้

อิฐหักและกระถางดินเผาแตก

อิฐหัก อิฐดินเผา และกระถางดินเผาแตก ใช้เป็นเครื่องปลูกรองก้นกระถางสำหรับปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศ โดยมีออสมันด้า กาบมะพร้าว ถ่านป่น อย่างใดอย่างหนึ่งอัดหรือโรยไว้ข้างบน เพื่อให้ด้านล่างของกระถางหรือภาชนะปลูกโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวกและเป็นการช่วยในการระบายน้ำในกระถางได้ดีขึ้น

วิธีการปลูก

การล้างลูกกล้วยไม้

คือการล้างลูกกล้วยไม้จากการเพาะเนื้อเยื่อออกจากขวดเพาะแล้วล้างให้หมดเศษวุ้นอาหาร นำจุ่มลงในน้ำยานาตริฟินในอัตราส่วนน้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 2,000 ส่วน แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แยกลูกกล้วยไม้ออกเป็น 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กกับขนาดใหญ่พอจะปลูกลงในกระถางนิ้ว

การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก

ลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กให้ปลูกในกระถางหมู่หรือกระถางดินเผาทรงสูงขนาด 4-6 นิ้ว รองก้นกระถางด้วยถ่านขนาดประมาณ 1 นิ้ว สูงจนเกือบถึงขอบล่างของกระถาง แล้วโรยทับด้วยออสมันด้าหนาประมาณ 1 นิ้ว ให้ระดับออสมันด้าต่ำกว่าขอบกระถางประมาณครึ่งนิ้ว ใช้มือข้างหนึ่งจับไม้กลมๆ เจาะผิวหน้าออสมันด้าในกระถางให้เป็นรูลึกและกว้างพอสมควร ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับปากคีบ คีบลูกกล้วยเบาๆ เอารากหย่อนลงไปในรูที่เจาะไว้ ให้ยอดตั้งตรง แล้วกลบออสมันด้าลงไปในรูให้ทับรากจนเรียบร้อย ควรจัดระยะห่างระหว่างต้นให้พอดี กระถางหมู่ขนาดปากกว้าง 4 นิ้ว ปลูกลูกกล้วยไม้ได้ประมาณ 40-50 ต้น

การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่

ลูกกล้วยไม้ที่ต้นใหญ่ให้ปลูกในกระถางขนาด 1 นิ้ว ใช้ไม้แข็งๆ ค่อยๆ แคะออสมันด้าในกระถางตามแนวตั้งออกมาใช้นิ้วมือรัดเส้นออสมันด้าให้คงเป็นรูปตามเดิม ค่อยๆ แบะออสมันด้าให้แผ่บนฝ่ามือ หยิบลูกกล้วยไม้มาวางทับ ให้โคนต้นอยู่ในระดับผิวหน้าตัดของออสมันด้าพอดี หรือต่ำกว่าเล็กน้อย แล้วรวบออสมันด้าเข้าด้วยกัน นำกลับไปใส่กระถางตามเดิม เสร็จแล้วนำเข้าไปเก็บไว้ในเรือนเลี้ยงลูกกล้วยไม้ สำหรับลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กที่อยู่ในกระถางหมู่มาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป มีลำต้นใหญ่แข็งแรงพอสมควรแล้วควรย้ายไปปลูกลงในกระถางนิ้ว โดยนำกระถางหมู่ไปแช่น้ำประมาณ 10 นาที ค่อยๆ แกะรากที่จับกระถางและเครื่องปลูกออก แยกเป็นต้นๆ นำไปปลูกลงในกระถางนิ้วเช่นเดียวกัน

การปลูกลงในกระเช้า

เมื่อลูกกล้วยไม้ในกระถางนิ้วมีรากเจริญแข็งแรงดี มีใบยาวประมาณข้างละ 2 นิ้ว ซึ่งจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 6-7 เดือน ก็นำไปลงปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 3-5 นิ้ว ด้วยการนำกระถางนิ้วไปแช่น้ำประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้แกะออกจากกระถางได้ง่าย ใช้นิ้วดันที่รูก้นกระถาง ทั้งต้นและออสมันด้าจะหลุดออกมา มือข้างหนึ่งจับออสมันด้าและลูกกล้วยไม้วางลงตรงกลางกระเช้าที่เตรียมไว้ มืออีกข้างหนึ่งหยิบก้อนถ่านไม้ขนาดพอเหมาะใส่ลงไปในช่องระหว่างออสมันด้ากับผนังของกระเช้าให้พยุงลำต้นได้ นำไปแขวนไว้ในเรือนกล้วยไม้

การย้ายภาชนะปลูก

เมื่อลูกกล้วยไม้มีใบยาว 4-5 นิ้ว ควรจะย้ายไปปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 8-10 นิ้ว โดยสวมกระเช้าเดิมลงไปในกระเช้าใหม่เพื่อมิให้รากกระทบกระเทือน ใช้ก้อนถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ วางเกยกันโปร่งๆ หรือจะไม่ใช้เลยก็ได้ เนื่องจากกล้วยไม้ไม่ต้องการเครื่องปลูกที่แน่นและชื้นแฉะเป็นเวลานานๆ ถ้าไม่ต้องการสวมกระเช้าเดิมลงไปก็นำกระเช้าเดิมไปแช่น้ำก่อน เพื่อให้แกะรากที่จับติดกระเช้าออกได้ง่าย นำต้นที่แกะออกแล้ววางตรงกลางกระเช้า ให้ยอดตั้งตรง มัดรากบางรากให้ติดกับซี่พื้นด้านข้างของกระเช้า

การตกแต่งกล้วยไม้ต้นใหญ่ก่อนปลูก

สำหรับกล้วยไม้ลำต้นใหญ่ที่ได้มาจากที่อื่นหรือจากการแยกหน่อ จะต้องตัดรากและใบที่เน่าหรือเป็นแผลใหญ่ๆ ทิ้งเสียก่อน รากบางส่วนที่ยังดีแต่ยาวเกินไป อาจตัดให้สั้นจนเกือบถึงโคนต้น แล้วทาแผลที่ตัดทุกแผลด้วยปูนแดงหรือยาป้องกันโรค เช่น ออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำให้เละมากๆ นำต้นกล้วยไม้ลงปลูกในกระเช้าไม้ซึ่งมีขนาดเหมาะสมกับลำต้น
นอกจากนั้นยังอาจนำกล้วยไม้ต้นใหญ่ไปผูกติดกับท่อนไม้หรือกระเช้าสีดา ให้บริเวณโคนต้นติดอยู่กับภาชนะปลูก ส่วนยอดอาจตั้งตรงทาบขึ้นไปหรือลำต้นโน้มไปข้างหน้าและส่วนยอดเงยขึ้น มัดลำต้นตรงบริเวณเหนือโคนต้นขึ้นไปเล็กน้อยให้ติดกับภาชนะปลูกด้วยเชือกฟางหรือลวด 1-2 จุดและมัดรากใหญ่ๆ ให้ติดกับภาชนะปลูกอีก 1-2 จุด เพื่อให้ติดแน่น อาจใช้กาบมะพร้าวกาบอ่อนชุบน้ำให้ชุ่ม มัดหุ้มบางๆ รอบโคนต้นกล้วยไม้เหนือบริเวณที่เกิดรากเล็กน้อยกับท่อนไม้ก็ได้ และนำท่อนไม้หรือกระเช้าสีดาไปแขวนบนราวเมื่อเกิดรากใหม่เกาะติดภาชนะปลูกดีแล้ว จึงตัดเชือกฟางหรือลวดออก

ลักษณะทั่วไป

         กล้วยไม้เป็นพืชที่มีส่วนต่างๆ สมบูรณ์ คือ มีราก ต้น ใบ ดอก และผล รากของกล้วยไม้ไม่มีรากแก้ว ลำต้นไม่มีแก่นไม้ ใบจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีเส้นใบขนานกันตามความยาวของใบ ซึ่งมีรายละเอียดของส่วนต่างๆ ดังนี้

ราก

กล้วยไม้มีระบบรากแบ่งเป็นหลายชนิด เช่น รากดิน รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ

ระบบรากดิน

จัดเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากเกิดจากหัวที่อวบน้ำอยู่ใต้ดิน ตัวรากจะมีน้ำมาก เช่นกล้วยไม้สกุลนางอั้ว กล้วยไม้ประเภทนี้พบมากบริเวณพื้นที่ที่มีสภาพอากาศในฤดูกาลที่ชัดเจน เช่น ฤดูฝนมีฝนตกชุก และมีฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนหัวจะแตกหน่อใบอ่อนจะชูพ้นขึ้นมาบนผิวดิน และออกดอกในตอนปลายฤดูฝน เมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้วใบก็จะทรุดโทรมและแห้งไป คงเหลือแต่หัวที่อวบน้ำและมีอาหารสะสมฝังอยู่ใต้ดินสามารถทนความแห้งแล้งได้

ระบบรากกึ่งดิน

มีรากซึ่งมีลักษณะอวบน้ำ ใหญ่หยาบและแตกแขนงแผ่กระจายอย่างหนาแน่น สามารถเก็บสะสมน้ำได้ดีพอสมควร กล้วยไม้ประเภทนี้พบอยู่ตามอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังร่วนโปร่ง กล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งดิน ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลสเปโธกล๊อตติส สกุลเอื้องพร้าว เป็นต้น

ระบบรากกึ่งอากาศ

เป็นระบบรากที่มีเซลล์ผิวของรากมีชั้นเซลล์ที่หนาและมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ผิวนอกเกลี้ยงไม่มีขน มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เก็บและดูดน้ำได้มาก สามารถนำน้ำไปใช้ตามเซลล์ผิวได้ตลอดความยาวของราก ระบบรากกึ่งอากาศมักมีรากแขนงใหญ่หยาบอยู่กันอย่างหนาแน่นไม่มีรากขนอ่อน รากมีขนาดเล็กกว่ารากอากาศ กล้วยไม้ระบบรากกึ่งอากาศได้แก่ กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลออนซิเดี้ยม เป็นต้น

ระบบรากอากาศ

กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศจะมีรากขนาดใหญ่ แขนงรากหยาบ เซลล์ที่ผิวรากจะทำหน้าที่ดูดน้ำ เก็บน้ำและนำน้ำไปตามรากได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี รากอากาศไม่ชอบอยู่ในสภาพเปียกแฉะนานเกินไป นอกจากนั้นปลายรากสดมีสีเขียวของคลอโรฟีลล์สามารถทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับใบเมื่อมี่แสงสว่าง เพราะฉะนั้นรากประเภทนี้จึงไม่หลบแสงสว่างเหมือนรากต้นไม้ดินทั่วๆ ไป กล้ายไม้ที่มีระบบรากอากาศได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลแมลงปอ สกุลเข็มและกล้ายไม้สกุลเรแนนเธอร่า

ลำต้น

หมายถึงส่วนที่เป็นข้อ บริเวณส่วนเหนือข้อและติดอยู่กับข้อจะมีตา ตาอาจจะแตกเป็นหน่ออ่อน กิ่งอ่อนหรือช่อดอกก็ได้ ส่วนที่เป็นข้อเป็นส่วนที่มีใบ กาบใบ หรือกาบของลำต้นที่ไม่มีส่วนของใบเจริญออกมาได้ ส่วนที่อยู่ระหว่างข้อเรียกว่า ปล้อง สำหรับลำต้นของกล้วยไม้ที่โผล่พ้นจากเครื่องปลูกแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ลำต้นแท้ และลำต้นเทียม

ลำต้นแท้

คือลำต้นที่มี ข้อ ปล้อง เหมือนกับลำต้นของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป ที่ส่วนเหนือข้อจะมีตา ซึ่งสามารถเจริญเป็นหน่อใหม่ และช่อดอกได้ ลำต้นประเภทนี้จะเจริญเติบโตออกไปทางยอด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า แมลงปอ และรองเท้านารี

ลำต้นเทียม

หรือที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ทำหน้าที่สะสมอาหาร ตาที่อยู่ตามข้อบนๆ ของลำลูกกล้วยสามารถแตกเป็นหน่อหรือช่อดอกได้ แต่ลำต้นที่แท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้คือ เหง้า ซึ่งเจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก ลักษณะของเหง้ามีข้อและปล้องถี่ กล้วยไม้ที่มีลำต้นลักษณะนี้ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย แคทลียา เอพิเด็นดรั้มและสกุลออนซิเดี้ยม

ใบ

กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว คือเส้นใบจะอยู่ในลักษณะขนานกันไปตามความยาวของใบ ใบของกล้วยไม้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของกล้วยไม้ นับตั้งแต่รูปร่าง สีสัน ขนาด และการทรงตัวตามธรรมชาติ ลักษณะใบของกล้วยไม้มีหลายชนิด เช่น ใบแบน ใบกลม และใบร่องซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างพวกใบกลมกับใบแบน แต่ใบกล้วยไม้ส่วนมากแล้วจะมีลักษณะแบน การเรียงตัวจะมีทั้งเรียงสลับกันและเรียงซ้อนทับกัน สีของใบส่วนมากมีสีเขียวอมเหลืองบางชนิดใบมีสีสันลวดลายสวยงาม หน้าที่ของใบ คือ สังเคราะห์แสง โดยสารสีเขียวเรียกว่าคลอโรฟีลล์ที่อยู่ภายในใบร่วมกับแสงสว่าง ช่วยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศผ่านเข้าไปทางรูถ่ายก๊าซของใบทำปฏิกิริยากับน้ำเกิดเป็นน้ำตาล นอกจากนี้ใบยังทำหน้าที่คายน้ำออกจากต้น ช่วยให้รากสามารถดูดน้ำและอาหารเข้าสู่ต้น เป็นการแทนที่น้ำที่ระเหยออกจากใบ ทำให้ต้นได้อาหารหรือปุ๋ยผ่านเข้าทางรากได้
ใบของกล้วยไม้มีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่น กล้วยไม้ในสกุลสแพโตกล๊อตทิส (Spathoglottis) มีลักษณะใบเป็นจีบ กล้วยไม้พญาไร้ใบ (Chiloschista usneoides LDL) มีลักษณะใบที่เล็กมากเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ในที่ค่อนข้างร่ม มีรากหนาแน่นสีเขียว สามารถปรุงอาหารได้ ใบจึงเจริญออกมามีขนาดใหญ่กว่าหัวเข็มหมุดเล็กน้อย กล้วยไม้รองเท้านารี (Paphilopedilum) ลักษณะใบมีสีสันงดงามหลายชนิดมีใบสีเขียวแก่สลับเขียวอ่อน กล้วยไม้ (Anoectochilus siamensis) ลักษณะใบมีสีน้ำตาลอมแดงและมีลายหรือกระสีขาวสวยงามมาก

ช่อดอก

(Inflorescence) มีลักษณะแตกต่างกันไปอย่างกว้างขวางแล้วแต่สกุลและชนิดของกล้วยไม้ บางชนิดมีก้านช่อสั้นมาก บางชนิดมีก้านช่อยาว บางชนิดมีช่อดอกตั้งแข็ง (Erect) บางชนิดมีช่อดอกลักษณะโค้งหรือห้อยหัวลง เช่น ช่อดอกกล้วยไม้ไอยเรศ (Rhynchostylis retusa) กล้วยไม้บางชนิดมีช่อดอกยาวและมีแขนงแยกออกไปอีก เช่น ช่อดอกกล้วยไม้ในสกุลเรแนนเธอร่า (Renanthera) ก้านซึ่งเป็นแกนกลางของช่อดอกจะประกอบด้วยข้อและปล้อง ช่อดอกของกล้วยไม้บางชนิดมีตาซึ่งอยู่ตามข้อของก้านที่เป็นแกนช่อสามารถแตกและเจริญออกมาเป็นต้นกล้วยไม้เล็กๆ ได้ เช่น ก้านช่อของกล้วยไม้สกุลฟาแลนด์น๊อฟซิส เป็นต้น

ดอก

ดอกกล้วยไม้เป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน มีหน้าที่ในการสืบพันธุ์ ดอกมีลักษณะ คือ กลีบรองดอก คือกลีบชั้นนอก เป็นส่วนที่ห่อหุ้มป้องกันส่วนต่างๆ ในขณะที่มีสภาพเป็นตาดอกอยู่ มักมีลักษณะและสีสันคล้ายใบ กลีบดอก กล้วยไม้กลีบดอก 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอก 3 กลีบ และชั้นใน 3 กลีบ กลีบชั้นนอกอยู่ข้างบนหนึ่งกลีบ ข้างๆ หรือข้างล่าง 2 กลีบ กลีบคู่ล่างนี้จะมีขนาดรูปร่างและสีสันเหมือนกัน แต่กลีบบนอาจแตกต่างออกไป สำหรับกลีบชั้นใน 3 กลีบ กลีบหนึ่งอยู่ข้างล่าง อีก 2 กลีบอยู่ข้างบน กลีบคู่นี้จะมีขนาด รูปทรง สีสัน เหมือนกัน ส่วนกลีบล่างจะเปลี่ยนไปโดยมีขนาดเล็กลงหรือโตขึ้น และมีสีสันผิดไปจากกลีบคู่บน กลีบคู่ล่างมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ปาก หรือ กระเป๋า

เกสร

คืออวัยวะที่แท้จริงของพืชมีดอก หรือเป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยให้การผสมพันธุ์กล้วยไม้เป็นพืชที่มีดอกสมบูรณ์เพศ คือ มีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เกสรกล้วยไม้มีลักษณะเฉพาะ คือ ส่วนของก้านชูยอดเกสรเมียกับก้านชูอับเรณูของเกสรผู้ รวมเป็นอวัยวะอันเดียวกัน และยอดเกสรเมียกับเรณูติดอยู่ส่วนนี้ รวมเรียกส่วนนี้ทั้งหมดว่า “เส้าเกสร” ซึ่งจะยื่นออกมาจากจุดเดียวกันกับที่โคนกลีบดอก ติดอยู่ที่ปลายสุดของเส้าเกสรเป็นที่อยู่ของเรณู ซึ่งเป็นเชื้อเพศผู้ เรณูนี้เป็นเม็ดขนาดเล็กมากมีฝาครอบปิดอยู่มิดชิด เรณูของกล้วยไม้มักเกาะกันเป็นก้อนเหนียวๆ เรียกว่า ก้อนเรณู ถัดจากปลายสุดลงมา เป็นแอ่งกลมเล็กมีน้ำเหนียวอยู่เต็มแอ่ง ส่วนนี้คือ แอ่งยอดเกสรตัวเมีย การผสมพันธุ์กล้วยไม้เริ่มแรกก้อนเรณูจะต้องเข้าไปในแอ่งน้ำเหนียว จะทำหน้าที่กระตุ้นให้เม็ดเรณูงอกเข้าไปผสมพันธุ์กับไข่ ในรังไข่ต่อไป บริเวณก้านดอกส่วนที่อยู่ชิดกับโคนกลีบดอก ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าก้านดอกที่ต่ำลงไป ก้านดอกส่วนนี้เป็นที่อยู่ของอวัยวะเพศเมียอีกส่วนหนึ่ง คือ รังไข่ ภายในรังไข่จะมีไข่อ่อนเป็นเม็ดเล็กๆ เกาะติดอยู่มากมาย ไข่อ่อนเหล่านี้เมื่อได้รับการผสมเชื้อเพศผู้จากเรณู ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตกลายเป็นเมล็ด ใช้สำหรับสืบพันธุ์ต่อไป

ผลหรือฝัก

ฝักกล้วยไม้มีอายุตั้งแต่ผสมเกสรไปจนถึงฝักแก่จะแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วยไม้ร่วมกับสภาพแวดล้อมและความสมบูรณ์ขององค์ประกอบในการเจริญงอกงาม กล้วยไม้บางชนิดฝักอาจจะแก่ได้ในระยะเวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้น บางชนิดฝักจะอยู่กับต้นถึงปีครึ่งถึงจะแก่ ฝักกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอมักจะห้อยปลายลงเป็นส่วนมาก เช่น ฝักของกล้วยไม้สกุลหวาย เป็นต้น แต่ละฝักมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเรียวยาวหรือป่องกลางคล้ายลูกรักบี้ เมล็ดมีขนาดเล็กมาก มีแต่คัพภะ แต่ไม่มีอาหารสะสม มีเปลือกบางๆ หุ้มเมล็ดอยู่ มีสีแตกต่างกันไป เช่น น้ำตาล เทา เหลือง หรือขาว และด้วยเหตุที่เมล็ดกล้วยไม้มีขนาดเล็กมาก จึงอาจปลิวกระจายไปตามลมได้ง่ายและเป็นระยะทางไกลได้

ประวัติกล้วยไม้

กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orchidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีลักษณะดอกและสีสันลวดลายสวยงาม เป็นไม้ตัดดอกที่มีอายุการใช้งานได้นาน กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เพราะเป็นไม้ส่งออกขายต่างประเทศทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท มีการปลูกเลี้ยงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผสมเกสร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงลูกกล้ายไม้ เลี้ยงต้นกล้ายไม้จนกระทั่งให้ดอก ตัดดอกบรรจุหีบห่อและส่งออกเองอกเอง
แหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าที่สำคัญของโลกมี 2 แหล่งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ลาตินอเมริกา กับเอเชียแปซิฟิค สำหรับในลาตินอเมริกาเป็นอาณาบริเวณอเมริกากลางติดต่อกับเขตเหนือของอเมริกาใต้ ส่วนแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง จากการค้นพบประเทศไทยมีพันธุ์กล้วยไม้ป่าเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้มาก และกล้วยไม้ป่าที่ในพบในภูมิภาคแถบนี้มีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างจากกล้วยไม้ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย


จากการสำรวจในอดีตพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้อยู่ในป่าธรรมขาติไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด ทั้งประเภทที่พบอยู่บนต้นไม้ บนพื้นผิวของภูเขาและบนพื้นดิน สรุปได้ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของประเทศไทยเอื้ออำนวยแก่การเจริญงอกงามของกล้วยไม้เป็นอย่างมาก ในอดีตชาวชนบทของไทย โดยเฉพาะในแหล่งที่เคยมีกล้วยไม้ป่าอุดมสมบูรณ์ ได้นำกล้ายไม้ป่ามาปลูกเลี้ยงโดยเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำกล้วยไม้มาปลูกไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ บ้านเรือน การเลี้ยงกล้วยไม้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกเลี้ยงอย่างจริงจังโดยชาวตะวันตกผู้หนึ่ง ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เห็นว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จึงได้สร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่ายๆ และนำเอากล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยไม้ในเอเชียและเอเชียแปซิฟิค โดยนำมาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรกในขณะเดียวกันก็มีเจ้านายชั้นสูงและบรรดาข้าราชการที่ใกล้ชิด ให้ความสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มบุคคลสูงอายุซึ่งเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อความสุขทางใจ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ อย่างไรก็ตามการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีเงินในยุคนั้น และเป็นการปลูกเลี้ยงที่นิยมกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของประเทศไทยจะนิยมและยกย่องเฉพาะพันธุ์ที่หายากและมีราคาแพง
หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 สภาพการเลี้ยงก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบเช่นเดิม แต่ผลงานเกี่ยวกับการผสมพันธุ์กล้วยไม้ในต่างประเทศเริ่มมีอิทธิพลกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องกับวงการกล้วยไม้ในประเทศไทยสนใจกล้วยไม้ลูกผสมมากขึ้น มีการสั่งกล้วยไม้ลูกผสมจากประเทศในทวีปยุโรป สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เพื่อนำเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทย
การพัฒนาการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ เป็นไปอย่างจริงจัง เมื่อประมาณปี 2493 โดยได้มีการวิจัย นับตั้งแต่การรวบรวมปลูกในระดับพื้นฐาน ต่อมาในปี 2497 ได้เริ่มเปิดการฝึกอบรมการเลี้ยงกล้วยไม้ให้แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป และมีการจัดตั้งชมรมกล้วยไม้ขึ้นในปี 2498 ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมาคมกล้วยไม้เมื่อปี 2500 และในปีเดียวกันนี้ ได้เริ่มมีการนำเอาความรู้ในเรื่องกล้วยไม้และแนวความคิดในการพัฒนาวงการกล้วยไม้ออกเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ และมีการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ ทำให้วงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีการจัดตั้งสมาคมและสโมสรเกี่ยวกับกล้วยไม้ขึ้นในภาคและจังหวัดต่างๆ
ในปี 2501 ได้มีการเปิดการสอนวิชากล้วยไม้ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก เพื่อผลิตนักวิชาการและพัฒนางานวิจัยกล้วยไม้ของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ได้จำกัดอยู่ภายในวงแคบอีกต่อไป จากการส่งเสริมดังกล่าว ทำให้มีการนำเข้ากล้วยไม้ลูกผสมจากต่างประเทศ เช่น จากฮาวายและสิงคโปร์จำนวนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความรู้หันมารวบรวมพันธุ์ผสมและเพาะพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ทั้งที่เป็นพ่อแม่พันธุ์จากป่า และลูกผสมที่สั่งเข้ามาแล้วในอดีต
ปี 2506 วงการกล้วยไม้ของไทยได้เริ่มมีแผนในการขยายข่ายงานออกไปประสานกับวงการกล้วยไม้สากล เพื่อยกระดับวงการกล้วยไม้ในประเทศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ
ปี 2509 เริ่มการทำสวนกล้วยไม้ตัดดอกอย่างจริงจัง เมื่อไทยเริ่มส่งออกกล้วยไม้ไปสู่ตลาดต่างประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ต่อมาจึงขยายตลาดไปสู่ประเทศญี่ปุ่น แคนาดา และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา